'โควิด' ระบาดคลัสเตอร์ กระทบ 'แรงงานอพยพ' เอเชีย

'โควิด' ระบาดคลัสเตอร์ กระทบ 'แรงงานอพยพ' เอเชีย

เผยชีวิตบรรดาแรงงานอพยพที่ทำมาหากินในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชีย รวมถึงไทย ที่ต้องตกระกำลำบากเมื่อประสบกับการระบาดแบบคลัสเตอร์ของโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลแต่ละประเทศต่างใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด

ในฐานะเป็นแรงงานอพยพชาวบังกลาเทศคนหนึ่งที่มาทำมาหากินขายแรงงานในสิงคโปร์ เรียกได้ว่าปีนี้เป็นปีที่เลวร้ายสุด ๆ สำหรับเขา โดยเมื่อเดือน เม.ย. เขาถูกบังคับให้กักตัวอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลา 1 เดือนเพราะไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ระบาดหนักภายในหอพักคนงานที่เขาอาศัยอยู่ ส่วนพื้นที่ก่อสร้างที่เขาทำงานอยู่ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งของรัฐบาลก็ถูกสั่งปิด

หลังจากเพื่อนร่วมห้องของเขาติดโรคโควิด-19 ประมาณกลางเดือนพ.ค.เขาก็ถูกนำตัวไปเข้ารับการตรวจสอบ และผลปรากฏว่าเขาติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ถึงแม้ว่าตัวเขาจะไม่เคยแสดงอาการใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้เลยก็ตาม 

แรงงานผู้นี้ ซึ่งอยู่ในวัย 30 ต้นๆ ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อ ไม่เคยเจอประสบการณ์การถูกกักตัวแบบนี้มาก่อน แต่เขาคือหนึ่งในแรงงานอพยพจำนวนกว่า 35,000 คนในสิงคโปร์ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ทั้งยังเป็นหนึ่งในแรงงานจำนวนมากทั่วเอเชียที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ไม่ใช่แค่เฉพาะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 อย่างเดียวเท่านั้น ยังเสี่ยงที่จะถูกปลดออกจากงาน หรือเสี่ยงที่จะถูกหักเงินเดือนด้วย 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ ตอกย้ำถึงการใช้ชีวิตอย่างล่อแหลมของบรรดาแรงงานต่างชาติหลายล้านคนและทำให้เกิดคำถามตามมาในฐานะที่แรงงานเหล่านี้ก็สร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศว่า หลังจากผ่านช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แล้วแรงงานอพยพเหล่านี้ยังควรได้รับการปฏิบัติแบบนี้ต่อไปหรือไม่

159174980713

ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานอพยพในสิงคโปร์บีบบังคับทางอ้อมให้ทางการสิงคโปร์ต้องเข้มงวดและเอาจริงเอาจังในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคชนิดนี้

“จุดอ่อนที่ปรากฏ รวมถึงการที่บรรดาผู้ว่าจ้างบางรายไม่สามารถจัดหาที่อยู่และอาหารให้แก่บรรดาแรงงานอพยพในช่วงเกิดวิกฤติสาธารณสุขได้ และการที่หอพักแรงงานต่างชาติไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้” วอลเทอร์ ทีเซียรา ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ให้ความเห็น

ทั้งนี้ นับจนถึงเดือน ธ.ค. 2562 สิงคโปร์ มีแรงงานต่างชาติจำนวนกว่า 1.42 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นแรงงานทักษะต่ำจำนวน 1 ล้านคน โดยอุตสาหกรรมที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมต่อเรือและอุตสาหกรรมการผลิต และโดยทั่วไป แรงงานต่างชาติเหล่านี้จะมาจากประเทศที่มีค่าแรงงานราคาถูก การมาทำงานในสิงคโปร์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพราะได้ค่าเหนื่อยมากกว่าช่วยให้สามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้น

159174980268

ส่วนหอพักคนงานในสิงคโปร์ตามปกติจะมีแรงงานอาศัยอยู่ในห้องเดียวกันประมาณ 10 คนหรือมากกว่านั้น ทำให้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมของรัฐบาลเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งการขนคนงานไปทำงานยังที่ต่างๆ ที่ต้องใช้รถบรรทุกและนั่งอัดแน่นกันในรถก็เพิ่มโอกาสในการทำให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่ม ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ห้ามหอพักแรงงานมีสัดส่วนประมาณ 93% ของเคสการติดเชื้อโดยรวมในสิงคโปร์

“ในฐานะที่สิงคโปร์ประกาศตัวเป็นสมาร์ทซิตี้ แต่ดูจะเป็นเรื่องย้อนแย้งกันอย่างมากที่แรงงานอพยพค่าแรงถูกคือผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในประเทศนี้ กลับมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากและไม่ถูกสุขอนามัย” โมฮัน ดัตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดในเชิงวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยแมสซีย์ นิวซีแลนด์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ ไม่ได้เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติและเผชิญหน้ากับแรงกดดันให้ดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า ในภูมิภาคเอเชียมีแรงงานอพยพประมาณ 33 ล้านคนในปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของแรงงานทั่วโลก ในจำนวนนี้กว่า2 ล้านคนอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของสิงคโปร์ ไม่รวมแรงงานเถื่อนที่ไม่มีเอกสารรับรองสถานะอย่างถูกต้องตามกฏหมาย 

ทุกวันนี้ มาเลเซียก็กำลังรับมือกับวิกฤติคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับหอพักแรงงานในสิงคโปร์ กล่าวคือเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในศูนย์กักกันของรัฐบาลโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานอพยพที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน เฉพาะเมื่อวันพฤหัสบดี (28 พ.ค.) เพียงวันเดียวพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มแรงงานอพยพที่ศูนย์กักกันตัวของรัฐบาลจำนวน 273 ราย

159174980589

ส่วนในไทย ซึ่งมีแรงงานอพยพจำนวนเกือบ 3 ล้านคนในประเทศทั้งจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา มีรายงานว่าแรงงานอพยพเหล่านี้พากันเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดเนื่องจากการปลดพนักงาน และด้วยความกลัวว่าจะถูกปลดออกจากงานในช่วงที่รัฐบาลไทยประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โดยแรงงานอพยพจากทั้ง 3 ประเทศส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในไทยในอุตสาหกรรมการบริการ ค้าปลีกและอุตสาหกรรมอาหาร และตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนส่งผลให้รัฐบาลประมาณมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ ออกมา มีแรงงานอพยพเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดประมาณ 7 แสนคน

แม้แต่แรงงานต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นก็เจอปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ โดยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมสูงวัย ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ โดยนับจนถึงเดือน ต.ค. 2562 มีแรงงานต่างชาติในไทยจำนวน 1.65 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนกว่าสองเท่าตัว

ในจำนวนนี้ ประมาณ 23% หรือ 384,000 คน เป็นแรงงานที่รับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคจากเวียดนาม จีนและฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆในภูมิภาค โดยโครงการนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถ่ายโอนแรงงานมีทักษะ มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและมีความรู้ด้านต่างๆในญี่ปุ่นไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศแต่ถูกวิจารณ์ว่าโครงการนี้กำลังใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูก ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โครงการนี้ชะงักงันไป