'บาทแข็ง' พยุงหุ้น 'การบิน' ต้นทุนน้ำมันลด-ดันกำไรพุ่ง

'บาทแข็ง' พยุงหุ้น 'การบิน' ต้นทุนน้ำมันลด-ดันกำไรพุ่ง

แนวโน้มค่าเงินบาทกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง รวมถึงผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุน หากย้อนไปดูในไตรมาสแรกที่ผ่านมา จะเห็นว่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ อ่อนค่าลงมาเกือบ 10% จากราว 30 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.7 บาทต่อดอลลาร์

มื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ปี 2563 เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องไปแตะระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่สถานการณ์จะพลิกผันจนปัจจุบันเงินบาทกลับมา "แข็งค่า" อยู่ที่ 31.3 บาทต่อดอลลาร์ หรือ ราว 5% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

"สุนทร ทองทิพย์" ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่ากลับมาในรอบนี้เป็นผลจาก การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์มากที่สุดในรอบ 3 เดือน เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้นำไปสู่การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น รวมถึงประเด็นการเมืองในสหรัฐ และการทำนโยบายประชานิยมซึ่งอาจทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณมากถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีนี้ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลายลง ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยและดุลการค้า รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่มีทิศทางดีขึ้น ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมา

โดยภาพรวมแล้ว เราได้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยอ่อนไหว (Sensitivity analysis) ถึงผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาทที่จะมีต่อกำไรของกลุ่มบริษัท โดยพบว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์หลัก คือ กลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า และสายการบิน ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร

“สาเหตุที่กลุ่มพลังงานและโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์เพราะว่ามีสัดส่วนหนี้สินในสกุลดอลลาร์สูง ซึ่งจะนำไปสู่กำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์ จะทำให้ประมาณการกำไรทั้งปี 2563 ของกลุ่มเพิ่มขึ้น 2 – 15% ขณะที่สายการบินจะได้ประโยชน์จากค่าเชื้อเพลิงในรูปเงินบาทที่ลดลง และจากการที่กลุ่มสายการบินมีกำไรอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะช่วยหนุนกำไรให้เพิ่มขึ้น 80 – 100% จากการแข็งค่าทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอาหารจะได้รับแรงกดดัน เพราะมีรายได้สุทธิในสกุลดอลลาร์ในสัดส่วนที่สูง โดยเงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์ จะทำให้ประมาณการกำไรปีนี้ลดลง 7-18% 

ขณะเดียวกัน บริษัทอย่าง บมจ.บ้านปู (BANPU) จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากมีสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในรูปดอลลาร์ ในขณะที่หนี้สินส่วนมากเป็นสกุลเงินบาท

“ในกรณีของ BANPU จะเห็นว่าการแข็งค่าทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์ จะกระทบประมาณการกำไรในปีนี้ถึง 62% ซึ่งจะเห็นได้จากไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทอ่อนค่า BANPU จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่หากเงินบาทแข็งค่ากลับมาเช่นนี้ก็มีแนวโน้มจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน”

ด้าน บล.เอเซียพลัส มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้จะไม่แรงเหมือนปีก่อนที่เงินบาทแข็งค่าจาก 33 บาทต่อดอลลาร์ ณ 15 ธ.ค. 2561 มาอยู่ที่ 29.68 บาทต่อดอลลาร์ ณ 31 ธ.ค. 2562 เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนที่มาจากดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่เกินดุลมากเหมือนปี 2562 สาเหตุเพราะดุลการค้าในช่วงที่เหลือของปี 2563 จะชะลอการเกินดุล เพราะภาคส่งออกมีแนวโน้มส่งลดเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และคาดว่าการส่งออกทองคำและอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกินดลการค้าในไตรมาสแรกจะค่อยๆ ลดลง

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังชะลอตัวจากมาตรากรควบคุมการเดินทางระวังประเทศที่เข้มงวดของแต่ละประเทศ รวมถึงการที่วัคซีน โควิด-19 ยังอยู่ในช่วงพัฒนา คาดว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะยังไม่ฟื้นตัวมากจนถึงปลายปี