โควิดแค่ทำให้อีอีซีเซ แต่ยังไม่ถึงขั้น 'ล้มลง'

โควิดแค่ทำให้อีอีซีเซ แต่ยังไม่ถึงขั้น 'ล้มลง'

วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลต่อการเดินหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มากน้อยขนาดไหน? หากจะบอกว่าไม่ส่งผลกระทบเลยคงไม่มีใครเชื่อ โดยวิกฤติครั้งนี้อาจทำให้ EEC สะดุดและเซไปบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นล้ม เพราะเป็นโครงการที่ประเทศไทยทุ่มไปเต็มที่

ผมว่าวันนี้หลายๆ คนคงมีคำถามด้วยความกังวลปนห่วงใยว่า วิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ครั้งนี้จะส่งผลต่อการเดินหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มากน้อยขนาดไหน 

ที่เป็นห่วงก็เพราะเป็นโครงการที่ประเทศไทยทุ่มไปเต็มเหยียด เพื่อให้เป็นตัวจุดประกายการพัฒนาไปสู่อีกระดับหนึ่ง และจากเหตุการณ์ไวรัสระบาดครั้งนี้ ถ้ามีใครออกมาบอกว่า “ไม่มีปัญหาใดๆ” เลย ผมว่าคงไม่มีใครเชื่อ 

สำนักงาน EEC ที่มาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจฯ ของวุฒิสภา ว่าได้ประมาณการว่าวิกฤติไวรัสโคโรนาและมาตรการของรัฐเพื่อสู้กับไวรัสเจ้านี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยสูญเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท และสูญเสียงานกว่า 1 แสนคนในปีนี้

อย่างไรก็ตาม หากมองสภาพในปัจจุบันที่ยอดขายยานยนต์ในประเทศลดลงกว่า 34% พอๆ กับผลผลิตที่หายไป 33% รวมทั้งการส่งออกหายไปกว่า 26% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ แต่ผมเชื่อว่าในมุมมืดนี้อาจเป็นจุดสว่าง ที่เราอาจเห็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายคนโดดออกจากที่คุ้นเคยเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอาจใช้ความชำนาญด้านความแม่นยำ (Precision) ได้

อย่างไรก็ตาม หากดูในรายละเอียดของแผนการดำเนินงานสำคัญๆ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นหัวใจและเป็นพื้นฐานการพัฒนานั้น ผมว่าวิกฤติครั้งนี้ทำให้ EEC สะดุด ถึงขั้นเซไปบ้าง แต่ไม่ ล้ม”

หากแจกแจงเป็นรายโครงการที่เป็นโครงการสาธารณูปโภคที่เป็นพื้นฐานสำคัญ เช่น รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือ ทุกโครงการเหล่านั้นได้มีการลงนามกับนักลงทุนและภาคเอกชนที่ลงทุนร่วมกับรัฐแล้ว และตอนนี้ก็ยืนยันในเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะดำเนินการแล้วเสร็จไว้เหมือนเดิม

ยกเว้น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภาที่ปัญหาอยู่ที่ หากแผนฟื้นฟูออกมาไม่เป็นคุณกับการดำเนินงานโครงการนี้แล้ว รัฐบาลจะเอาอย่างไร เพราะเราต้องมีโครงการนี้ให้ได้ ไม่งั้นจิ๊กวอว์ตัวอื่นวุ่น

รวมทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกหลายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอากาศยานที่มีการพัฒนาเรื่องการผลิตชิ้นส่วน การพัฒนาบุคลากร และสนามบินอู่ตะเภาก็จะขาดเสน่ห์ไปพอสมควรละครับ

ส่วนโครงการที่เป็น Ecosystem สำคัญสำหรับการสร้างเสน่ห์ให้พื้นที่นี้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งส่วนมากเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นฮับ (Hub) ของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีเจ้าภาพเป็นหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ

เช่น EECi (innovation), EECd (digital) หรือ EFC (Eastern Fruit Corridor) จะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องติดตามกันดูกัน เพราะการโยกย้ายงบประมาณในหน่วยงานในวิกฤติไวรัสครั้งนี้จะทำให้ความสำคัญของโครงการเหล่านี้ลดลงหรือล่าช้าออกไปหรือไม่

ผมยังเชื่อว่า วิกฤติไวรัสครั้งนี้ให้อะไรดีๆ กับเราพอสมควร อย่างน้อย ผมว่าให้เราได้ทดสอบความอดทน การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ให้บทเรียนใหม่ๆ ในสถานการณ์ใหม่ และเค้นศักยภาพในตัวของเราออกมาเพื่อปรับตัวให้อยู่รอด

และสำหรับโครงการ EEC วิกฤติครั้งนี้ ทำให้ทุกคนพอได้เห็นว่า โครงการนี้รัฐบาลเอาจริง ไม่มีถอย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากเห็น โดยเฉพาะนักลงทุนและคนในพื้นที่