ต่างชาติไล่เก็บ ‘หุ้นแบงก์’ ‘กสิกร-เอสซีบี’ กอดคอซิลลิ่ง

ต่างชาติไล่เก็บ ‘หุ้นแบงก์’ ‘กสิกร-เอสซีบี’ กอดคอซิลลิ่ง

“ฟันด์โฟลว์” เริ่มไหลกลับตลาดหุ้นไทย หลังต่างชาติซื้อสุทธิ 4 วัน กว่า 1.14 หมื่นล้าน ปลุกบรรยากาศการลงทุนคึกคัก ขณะ “หุ้นไทย” วานนี้ปิดตลาดพุ่ง 36 จุด แตะระดับ 1,411 จุด โดย “กลุ่มแบงก์”รับอานิสงส์เต็ม ราคาบวกยกแผง “กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์”กอดคอชนซิลลิ่ง

ทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา (29 พ.ค. – 4 มิ.ย.) โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 11,473.21 ล้านบาท หลังจากที่ขายสุทธิมาก่อนหน้านี้ถึง 1.98 แสนล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีเพียง 14 วันทำการเท่านั้นที่นักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายซื้อสุทธิภายในรอบวัน ซึ่งการไหลเข้ามาของเงินทุนในรอบนี้ ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,411 จุด

โดยกลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าในรอบนี้ คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Bank) ซึ่งเป็น กลุ่มที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้มากที่สุดในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา โดยขึ้นไปสูงสุดราว 15%ซึ่งหุ้นบมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นสองหุ้นในกลุ่มแบงก์ที่พุ่งขึ้นชนเพดานซื้อสูงสุดระหว่างวัน(ซิลลิ่ง)  15% จากวันก่อนหน้า โดย KBANK ปิดที่ 115 บาท ขณะที่ SCBปิดที่ 87.75 บาท

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ (Fund flow) อาจจะทยอยเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในช่วง 3 วันทำการก่อนหน้านี้ (29 พ.ค. และ 1 - 2 มิ.ย.) ก็มีเม็ดเงินราว 3,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.05 แสนล้านบาท) ไหลเข้ามาในภูมิภาค

โดยปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามา น่าจะเป็นเพราะไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ค่อนข้างดี ประกอบกับทิศทางดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายการเงิน รวมทั้งความตึงเครียดทางการเมืองในสหรัฐ

“การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์จะต่อเนื่องแค่ไหนสำหรับประเทศไทย อาจจะต้องรอดูว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ โดยส่วนตัวมองว่าตลาดมีแนวโน้มปรับฐานอีกรอบในช่วงใกล้กับการประกาศงบฯ ไตรมาส 2 นี้ ซึ่งหลังจากนั้นต้องติดตามดูว่า ว่างบฯ ที่ประกาศออกมานั้น เป็นไปอย่างที่คาด ดีกว่า หรือแย่กว่าคาด และหากผลประกอบการมีแนวโน้มเป็นจุดต่ำสุด ก็มีโอกาสที่จะเห็นฟันด์โฟลว์ทยอยเข้าต่อเนื่อง”

ในช่วง 2 เดือน ถัดจากนี้ คาดว่าดัชนี SET จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,250 – 1,450 จุด โดยยังคงมีความคาดหวังเชิงบวกต่อภาพรวมอยู่

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การปรับขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มแบงก์วานนี้ เป็นผลจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติซึ่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 - 4 วันที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มแบงก์ได้อานิสงส์เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ยังต่ำอยู่ ด้วยราคาหุ้นที่ซื้อขายกันที่ราว 0.5 เท่า ของมูลค่าทางบัญชี

อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายของดัชนีภาพรวมซึ่งเราประเมินกรอบบนไว้ที่ 1,420 จุด ทำให้ช่องว่างของการปรับขึ้นเหลือไม่มากนัก จึงคาดว่าน้ำหนักของฟันด์โฟลว์อาจจะค่อยๆ ลดลงในระยะถัดไป โดยภาพของตลาดอาจจะเป็นการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นที่เข้าซื้อ หลังจากที่ราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์เริ่มไม่ต่ำอีกต่อไป โดยอาจจะเห็นการโยกย้ายเงินลงทุนไปยังกลุ่มอื่นๆ ที่ยังปรับตัวได้แย่กว่าตลาด อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตาดูคือ ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้ หากเข้าสู่ช่วงพรีวิวหรือประกาศงบ จะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นได้ เพราะแนวโน้มผลประกอบการยังไม่ดีนัก โดยปีนี้คาดว่ากำไรของกลุ่มจะลดลงราว 10 - 20% หากอิงจากระดับนี้ มูลค่าของหุ้นกลุ่มแบงก์โดยเฉลี่ยก็น่าจะอยู่ที่ราว 0.8 เท่า