'อว.จ้างงาน' เฟส 2 จ้างเหยื่อโควิดอีก 3.2 หมื่นอัตรา

'อว.จ้างงาน' เฟส 2 จ้างเหยื่อโควิดอีก 3.2 หมื่นอัตรา

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เปิดโครงการ อว.จ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ระยะที่ 2 กลางเดือน มิ.ย.นี้ อีก 3.2 หมื่นอัตรา ทำงาน ก.ค. – ก.ย.นี้ 3 เดือน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาทพร้อมติดอาวุธทางปัญญาด้วยเพิ่มทักษะเป็นผู้ประกอบการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลัง

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เปิดโครงการ อว.จ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 ระยะที่ 2 กลางเดือน มิ.ย.นี้ อีก 3.2 หมื่นอัตรา ทำงาน ก.ค. – ก.ย.นี้ 3 เดือน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาทพร้อมติดอาวุธทางปัญญาด้วยเพิ่มทักษะเป็นผู้ประกอบการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังโควิด – 19 เผยมีกองทุนเริ่มต้นธุรกิจให้ เตรียมขอใช้งบประมาณจาก พรก.เงินกู้ เพื่อจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และบัณฑิตที่ตกค้างรวมถึงบัณฑิตที่ว่างงงาน อีก 2 แสนตำแหน่ง ระยะเวลา 1 ปีและจะจ้างงานนักศึกษาอีก 1 แสนอัตรา ทำงานกับชุมชน 1 ภาคเรียน

159100161126


เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) แถลงข่าวการปฐมนิเทศผู้ได้รับการจ้างงานใน “โครงการ อว.สร้างงานในระยะที่ 1” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายว่าต้องเยียวยาประชาชนหลังวิกฤตโควิด – 19 ส่วนหนึ่งคือการจ้างงาน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ อว.เริ่มด้วยโครงการ อว.จ้างงาน ระยะที่ 1 จำนวน 9,710 อัตรา จากหน่วยจ้างงาน 42 หน่วยงานของ อว. โดยการจ้างงานครั้งนี้ได้เริ่มแล้ว ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาท และ ไม่ใช่แค่การสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาทำงานร่วมกับ อว.ได้เห็นช่องทางที่จะไปต่อ และมหาวิทยาลัยหรือหน่วยจ้างงานทั้งหมด ยังจะมีการปรับปรุงทักษะ เพิ่มและพัฒนาทักษะให้ประชาชนที่ได้รับการจ้างงาน นำไปใช้ในวิชาชีพในอนาคต เช่น การเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญา ตนอยากให้ประชาชนที่ได้รับการจ้างงานเห็นโอกาสใน 4 เดือนจากนี้ ไม่ว่าจะทำงานกับ อว.ด้านไหน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาชุมชน หากสนใจจะเป็นผู้ประกอบการ อว.มีกองทุนเริ่มต้นธุรกิจให้ ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังโควิด – 19

สำหรับโครงการ อว.สร้างงานในระยะที่ 1 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 19,239 อัตรา รับได้ 9,730 อัตรา โดยหน่วยจ้างที่มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 2,845 คน 2.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 2,777 คน และ 3. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จำนวน 1,267 คน และมียอดผู้สมัครตามภูมิภาค ดังนี้ 1.ภาคอีสาน จำนวน 8,108 คน ภาคใต้ จำนวน 4,697 คน ภาคเหนือ จำนวน 3,376 คน ภาคกลาง จำนวน 1,122 คน ภาคตะวันออก จำนวน 275 คน


ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า จากนี้ อว.จะเปิดรับการจ้างงานใน “โครงการ อว.สร้างงานในระยะที่ 2” ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ระหว่างเดือนก.ค. – ก.ย.นี้ รวมระยะเวลา 3 เดือน อัตราค่าจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน โดยคาดว่าจะรับสมัครงานได้ จำนวน 32,718 อัตรา และสามารถเปิดรับสมัครได้ทันทีหลังจากที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ และที่สำคัญ อว.จะเสนอขอใช้งบประมาณจาก พรก.เงินกู้ เพื่อจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และบัณฑิตที่ตกค้างรวมถึงบัณฑิตที่ว่างงงานจากโควิด – 19 อีก 2 แสนตำแหน่ง เป็นระยะเวลา 1 ปีและจะจ้างงานนักศึกษาอีก 1 แสนอัตรา เพื่อทำงานกับชุมชน พัฒนาชุมชน เป็นเวลา 1 ภาคเรียนและจะมีรายได้ติดปลายนวมเพื่อทดแทนรายได้จากการทำงานนอกเวลา

159100195060

ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดได้ดำเนินโครงการจ้างงานประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” เฟสแรกได้ดำเนินการจ้างงานจำนวน 1,325 คน สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ ทั้งนี้ ผู้รับจ้างงานมีหน้าที่ และความรับผิดชอบ 3 งานหลัก ได้แก่ งานด้านข้อมูล งานด้านวิเคราะห์และทำแผน และงานด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี”

งานด้านข้อมูลจะทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับประชาชนในพื้นที่ อธิบายขั้นตอนการสำรวจและจัดทำข้อมูลด้านต่าง ๆ อาทิ โรคติดต่อชุมชน โครงการ Smart Farming ในชุมชน เกษตรปลอดภัยในชุมชน การจัดการขยะชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมถึงการชี้แจงรายละเอียด ถ่ายทอดองค์ความรู้ เผยแพร่ องค์ความรู้ นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

159100142765

งานด้านวิเคราะห์และทำแผน ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะทำหน้าที่วิเคราะห์และกำหนดแผนดำเนินการร่วมกันกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ของ กระทรวงฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีก 5 เครือข่ายที่ร่วมในแผนงานต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินงาน

สุดท้ายคือ งานด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี คือ การทำหน้าที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจังหวัดขอนแก่น มาถ่ายทอดหรือฝึกอบรมในชุมชน เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญของพื้นที่ทั้งในเมืองและในชนบท อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

นอจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จะเข้าร่วมโครงการ อว.จ้างงาน ในเฟสที่ 2 โดยจะมุ่งเป้าในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและสระแก้ว เชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และชุมชนตามหลักการ “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมครัวเรือนพอเพียง สืบสานวัฒนธรรมชุมชน เกษตรปลอดภัย จนเกิดวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมดี รายได้เพิ่มขึ้น ความสุขมวลรวมเพิ่มขึ้น เป็นการพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างมีพลวัต เช่น การสำรวจและจัดการแหล่งน้ำที่ตำบลลำพระเพลิง การหาสาเหตุและวิธีแก้ไขหอยแครงตายที่ตำบลคลองโคน การบำบัดนำ้เสียโดยเปลี่ยนเป็นพลังไฟฟ้า การพัฒนาเครื่องแจกบัตรคิวในโรงพยาบาล การแปรรูปปลาร้ามอญอัดก้อนและข้าวเกรียบเกล็ดปลา การปลูกเมล่อนและตรวจสอบพันธุ์มะม่วงเพื่อขึ้นทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์