ยูเรกาฯ ชิงจังหวะโควิด พลิกสายพานสู่ 'เครื่องมือแพทย์'

ยูเรกาฯ ชิงจังหวะโควิด พลิกสายพานสู่ 'เครื่องมือแพทย์'

ช่วงโควิด-19 ระบาด “ยูเรกา ออโตเมชั่น” ดึงประสบการณ์กว่า 18 ปีด้านการออกแบบ ผลิตเครื่องจักรระบบอัตโนมัติให้กับอุตฯยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และอาหาร ชิมลางเปิดสายพานผลิตใหม่ “เครื่องช่วยหายใจฉุกเฉิน” ยึดแนวคิดผลิตเร็ว สะดวกใช้ ปูทางสู่อุตฯเครื่องมือแพทย์

ปูทางรุกอุตฯเครื่องมือแพทย์

วิเชษฐ์ เมืองจันทร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยูเรกา ออโตเมชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “PRANCE เครื่องช่วยหายใจฉุกเฉิน” เป็นเครื่องช่วยหายใจแบบประหยัด ได้รับแนวคิดมาจากอุปกรณ์ถุงลมช่วยหายใจแบบบีบ (Ambu bag) โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วจะต้องทำการบีบตลอดเวลาเพื่อให้อากาศเข้าสู่ปอดของผู้ป่วยวิกฤติที่ไม่สามารถหายใจได้เอง ดังนั้น ความแม่นยำของปริมาณอากาศผสมออกซิเจนเข้มข้นจาก Ambu bag ที่บีบอัดเข้าสู่ปอดกับอัตราเร็วของการหายใจของคนป่วย จึงขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของตัวบุคคลเป็นหลัก

159099978178

ทีมวิศวกรจึงออกแบบโดยใช้กลไกของแมคคาทรอนิกส์ช่วยทำการบีบแทนคน พร้อมทั้งมีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมให้ทำงานแบบอัตโนมัติ และมีเซนเซอร์ตรวจวัดแรงดันอากาศในวงจรทางเดินหายใจของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ เพื่อควบคุมการทำงานของอัตราของการหายใจและรายงานผล ขณะที่ผู้ดูแลสามารถปรับค่าการทำงานให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ทั้งยังสามารถปล่อยให้เครื่องทำงานอัตโนมัติ และมีสัญญาณเตือนหากมีสภาวะผิดปกติเกิดขึ้น

พยาบาลหรือแพทย์จึงสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น เช่น ฉีดยา ควบคู่ไปกับการดูแลการหายใจ ทั้งนี้ PRANCE เหมาะกับการช่วยเหลือผู้ป่วยในขณะเคลื่อนย้าย และยังสามารถใช้กับผู้ป่วยบนเตียงภายใต้การดูแลของแพทย์ในยามที่เครื่องช่วยหายใจหลักที่มีใช้ในห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ไม่เพียงพอ เช่น กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศที่มีคนป่วยจำนวนมาก ทำให้เครื่องช่วยหายใจมีไม่เพียงพอ เป็นต้น

“กลุ่มเป้าหมาย คือ โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในจุดที่มีการใช้ Ambu bag อยู่แล้ว เช่นกับรถพยาบาลและกับการขนย้ายคนป่วยจากห้องผ่าตัดไปห้องพักฟื้น หรือสำหรับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อาจต้องรับคนป่วยฉุกเฉิน ก่อนที่ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องมีเครื่องช่วยหายใจชนิดนี้เพื่อสำรองไว้”

159099979838

วิเชษฐ์ สะท้อนมุมมองว่า โครงการนี้ช่วยให้เพิ่มความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์ เริ่มเข้าใจว่าอะไรเป็นปัจจัยด้านคุณภาพ อะไรเป็นมาตรฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประสบการณ์ที่ได้จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายตลาดเข้าสู่เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี และจะมีประโยชน์กับธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในรูปแบบต่างๆ สำหรับเวอร์ชั่นต่อไปเราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนา User Interface ที่จะมีการโชว์รูปคลื่นจังหวะการหายใจเป็นดิสเพลย์แทนแอลซีดี จะช่วยให้ใช้งานง่ายขึ้นรวมทั้งมีข้อมูลวิเคราะห์ผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

ไตรมาส 4 สู่สนามจริง

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ วิเชษฐ์ ชี้ว่า เน้นให้มีฟังก์ชั่นที่เหมาะสมและจำเป็นใช้งานอย่างแท้จริง เพราะในช่วงเริ่มแรกได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ด้านวิสัญญีเกี่ยวกับการใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้มีแนวทางการออกแบบและพัฒนาอย่างถูกต้องตามหลักที่แพทย์ให้คำแนะนำ ทำให้เครื่องสามารถอำนวยความสะดวกในการใช้งานจริง ในส่วนขององค์ประกอบตัวเครื่องพยายามใช้อุปกรณ์ที่มีในประเทศ ทำให้สามารถกำหนดราคาเพื่อแข่งขันกับเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศได้

159099981239

ทั้งนี้ ตัวเครื่องสามารถดูแลรักษาง่าย ราคาอะไหล่ไม่สูงจนเกินไป สามารถทำการขนย้ายได้สะดวก เหมาะกับการใช้ในรถพยาบาลฉุกเฉิน มีระบบขั้นพื้นฐานเหมือนกับเครื่องมาตรฐานทั่วไป อีกทั้งผู้ดูแลก็ยังสามารถถอดเปลี่ยนถุงลมฯ ใหม่ได้ทันทีเมื่อชิ้นเก่าที่ใช้งานเกิดชำรุด

“ลำดับต่อไป บริษัทมีแผนพัฒนาตัวอย่างเพื่อให้แพทย์ได้ทดลองใช้ภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนที่จะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพราะจะทำให้ทราบถึงจุดที่ต้องการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่ยอมรับในคุณภาพ จากนั้นจะส่งไปสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เพื่อทำการสอบเทียบค่าต่างๆ กระทั่งมั่นใจในเรื่องคุณภาพก็จะต่อยอดสู่การจำหน่ายภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เบื้องต้นลงทุนวิจัยไม่เกิน 1 แสนบาท และหลังจากที่ทำ Prototype คาดว่าจะสามารถกำหนดราคาขายได้ 5-8 หมื่นบาท”