รพ.รามาฯ ใช้เทเลเมดิซีน ลดความแออัด-แพทย์ทำงานง่าย

รพ.รามาฯ ใช้เทเลเมดิซีน ลดความแออัด-แพทย์ทำงานง่าย

รพ.รามาฯ มีผู้ป่วยหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลปีละกว่า 2.2 ล้านคน หรือ 5,000 – 6,000 คนต่อวัน จึงนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลลง 30 % เพื่อลดการติดเชื้อ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานง่ายขึ้น ลดการเผชิญหน้ากับคนไข้จำนวนมาก

ทั้งนี้ การนำระบบเทเลเมดิซีนดังกล่าวมาใช้ เน้นกลุุ่มผู้ป่วยเก่ากลุ่มโรคเรื้อรังสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสได้รับเชื้อระหว่างการเดินทาง และอำนวยความสะดวกในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ และลดความแออัดที่โรงพยาบาล ทำให้สามารถดำเนินมาตรการด้านระยะห่าง ในหน่วยบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มรันระบบตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

โดยแพทย์จึงต้องคัดกรองผู้ป่วย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สีเขียวคือ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ ไม่ต้องจ่ายยา และสามารถรับยาโรงพยาบาลต้นสังกัดได้ ใช้วิธีติดต่อทางโทรศัพท์ ถัดมา สีเหลืองคือ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ และสามารถตรวจแบบเทเลเมดิซีน หรือโทรศัพท์ โดยสามารถเลือกให้ญาติมารับยาตามตามวันที่กำหนด หรือส่งยาทางไปรษณีย์ ยกเว้นยาแช่เย็น ที่ต้องรักษาอุณหภูมิ และยาเสพติด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องใช้ยาแก้ปวด หรือโรคจิตเวช โรคปวดเรื้อรัง

และสุดท้าย สีแดงคือ ผู้ป่วยที่ต้องมาตามนัดเพื่อติดตามอาการ ตรวจละเอียด ให้มาตามนัดปกติ เพราะการตรวจแบบเทเลเมดิซีน มีข้อจำกัด ตรวจได้แค่เบื้องต้น 

หลังจากนั้น เมื่อแพทย์คัดกรองแบ่งกลุ่มผู้ป่วย และทางโรงพยาบาลจะติดต่อไปยังผู้ป่วยเพื่อเช็กเวชระเบียน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ สิทธิการรักษา และนัดหมายวันเวลาในการติดต่อกลับไป หากเคสไหนคุยเรื่องยาอย่างเดียว ใช้วิธีโทรศัพท์เพราะเร็วที่สุด หากเคสที่ต้องตรวจเบื้องต้นหรือให้ส่งผลแล็บมา จะใช้วิธีการวิดีโอคอลผ่านไลน์

รศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ กล่าวว่า  หลังจากแพทย์ให้ตรวจคนไข้เสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการติดต่อจากการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ 60% มีสิทธิข้าราชการ 20% มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ และอีกมากกว่า 10% สิทธิประกันสังคม ผู้ป่วยจะเบิกได้เกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่จะจ่ายเพียงยาที่อยู่นอกบัญชียาหลัก ค่าจัดส่งยาผ่านไปรษณีย์ และค่าตรวจราว 200 บาท ซึ่งผู้ป่วยสามารถจ่ายผ่าน E-Banking , บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคาร จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลไปยังเภสัชกร และจัดการแพ็กยาส่ง โดยเลขแท็กกิ้ง จะถูกส่งไปยัง SMS ผู้ป่วยทันที 

เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายน – 12 พฤษภาคม 2563 ให้บริการเทเลเมดิซีนไปแล้วราว 5,795 ราย รับยาทางไปรษณีย์ทั้งสิ้น (ข้อมูล ณ 16 พฤษภาคม) จำนวน 4,300 ราย

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดี มีผู้ป่วยหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลปีละกว่า 2.2 ล้านคน หรือ 5,000 – 6,000 คนต่อวัน ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งการโทรศัพท์ และเทเลเมดิซีน ให้เห็นภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำให้ลดความแออัดของรพ.ลงได้

โดยก่อนหน้านี้มีแผนที่จะย้าย Hospital Care ไปเป็น Home Care ซึ่งสถานการณ์ โควิด-19 มาช่วยกระตุ้นให้การแพทย์มีการพัฒนารวดเร็วขึ้น ทั้งการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทำงานง่ายขึ้น ลดการเผชิญหน้ากับคนไข้จำนวนมาก เทเลเมิดิซีนมาเปลี่ยนภาระงานทุกอย่างจากฉุกเฉิน กะทันหัน ทำให้ประชาชนสะดวกขึ้น ในอนาคตโครงการส่งยาที่มีข้อจำกัดในการส่ง เช่น ยาเสพติด ยาแช่เย็น ยาบางชนิดที่เป็นขวดแก้ว จะมีรูปแบบในการจัดส่งอย่างไรให้คงประสิทธิภาพเมื่อถึงมือผู้ป่วย

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าในระบบหลักประกันสุขภาพ มีการสนับสนุนให้รับยาทางไปรษณีย์ รับยาใกล้บ้าน เพื่อเสริมให้เทเลเมดิซีนมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยตั้งเป้าในปีงบประมาณที่ผ่านมาว่าจะลดความแออัดโรงพยาบาลลง 30% สถานการณ์โควิด-19 ทำให้่ได้รับความร่วมมือจากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเป็นรูปธรรม มีการไปรับยาที่ร้านยาคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญรวมถึงการส่ง SMS แจ้งผู้ป่วยทำให้ทุกคนได้รับบริการเหมือนกัน

ปัจจุบัน โรงเรียนแพทย์เกือบทุกแห่ง โรงพยาบาลกรมการแพทย์ 27 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์หลายแห่งมีเทเลเมดิซีน ในอนาคตอยากให้ชาวบ้านระดับอำเภอ ชุมชน เข้าถึงบริการมากขึ้น อย่างน้อยช่วงที่ไม่ได้มาโรงพยาบาล ขณะนี้สปสช. สนับสนุนค่าจัดส่งยาทางไปรษณีย์ กรณีคนไข้ไม่ได้มารพ.เนื่องจากใช้บริการเทเลเมดิซีน สปสช. จะจัดงบส่วนนี้ให้กับโรงพยาบาล โดยจะต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลการให้บริการระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลอย่างเรียลไทม์ผ่านเลขบัตรประชาชน 13 หลักจะช่วยให้การเบิกจ่ายรวดเร็วแม่นยำ 

รวมทั้งเล็งเพิ่มการตรวจแล็บนอกโรงพยาบาลที่มีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าแห่ง เช่น ตรวจเบาหวาน ไต ตับ ฯลฯเพื่อให้ประชาชนไปตรวจใกล้บ้าน โดย สปสช. เป็นผู้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณร้านยาคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีราว 1,000 แห่ง จากร้านยาทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นแห่ง ให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้น ร้านยาต้องมีคุณภาพ เพื่อคนไข้จะได้มั่นใจมากขึ้น