โควิดแพร่ ‘เฟคนิวส์’ สะพัด! เมื่อประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ

โควิดแพร่ ‘เฟคนิวส์’ สะพัด! เมื่อประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ

การที่เฟคนิวส์แพร่สะพัดส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้มากพอ

ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโคโรนา โลกออนไลน์เต็มไปด้วยข้อมูลบิดเบือนและเรื่องราวหลอกลวง ก่อให้เกิดความกลัวและสับสนไปทั่วทวีปเอเชีย ที่บางประเทศลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎล็อกดาวน์อย่างหนัก ถึงขนาดอาจถูกจำคุกหรือเสียค่าปรับก้อนโตได้ 

ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่รัฐบาลประเทศเอเชียนอกเหนือจากจีนเริ่มใช้ข้อบังคับนานัปการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานข่าวการให้ข้อมูลลวงเรื่องล็อกดาวน์กว่า 150 ชิ้น

ข่าวลวงเกิดขึ้นจากคนหลากหลายกลุ่มด้วยแรงจูงใจแตกต่างกัน ตั้งแต่คนที่พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ตอกลิ่มความแตกแยกทางศาสนา ไปจนถึงพวกพิเรนทร์ จากนั้นก็ถูกแชร์ไปอย่างกว้างขวางด้วยเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

ในเดือน เม.ย. ข่าวลวงชิ้นหนึ่งแชร์กันในเฟซบุ๊ค "ฟิลิปปินส์" หลังประกาศล็อกดาวน์ เผยภาพผู้ขับขี่จักรยานยนต์รายหนึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิต เพราะไม่ยอมจอดที่ด่านตรวจไวรัส คลิปนี้มีคนดูถึงหลายแสนวิวและแชร์ต่อกันไปมากมาย แท้จริงแล้วเป็นคลิปตำรวจกำลังฝึกซ้อมปฏิบัติการ

ชาวเน็ตบางคนโกรธมาก คาใจที่ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุจนประชาชนเสียชีวิต ซึ่งตำรวจฟิลิปปินส์ถูกกล่าวหามานานแล้วเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีบทบาทนำในการทำสงครามกับยาเสพติดอันอื้อฉาวของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แต่ผู้ใช้บางคนเรียกชายคนนี้ว่า “หัวแข็ง” ดื้อดึงไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจก็สมควรถูกลงโทษ แนวคิดแบบนี้มักเป็นผู้สนับสนุนดูเตอร์เต ที่ชอบใจเมื่อเห็นคนถูกฆ่าหลายพันคนจากการทำสงครามกับยาเสพติด

เฟคนิวส์อื่นๆ ที่แชร์กันในฟิลิปปินส์ เช่น หลอกว่าขยายเวลาล็อกดาวน์ ผู้ประท้วงต้านรัฐบาลท้าทายคำสั่งห้ามรวมตัว

ที่อื่นๆ ในเอเชียก็มีแบบนี้เช่นกัน เช่น ในเฟซบุ๊ค "ไทย" มีคนโพสต์คลิปชาวมาเลเซียแห่กันไปซื้อสินค้ามากักตุนไว้หลังรัฐบาลออกคำสั่งปิดเมือง ผู้ใช้ชาวไทยดูคลิปนี้หลายแสนครั้ง พร้อมคอมเมนท์แสดงความกังวลว่าในไทยก็อาจเกิดเหตุแบบเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้คือการแห่ซื้อของในเทศกาลลดราคาแบล็กฟรายเดย์ในบราซิล เมื่อเดือน พ.ย.2562

อีวอน ฉั่ว อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เผยว่าข้อมูลเท็จยิ่งทำให้ประชาชนกังวลและรู้สึกไม่มั่นใจ

ด้าน แอกเซล บรุนส์ อาจารย์ด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ความปั่นป่วนบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเมื่อรัฐบาลสื่อสารไม่ชัดเจน

“ในมุมมองของผม รัฐบาลสื่อสารมีประสิทธิภาพมากเรื่องล็อกดาวน์ แต่เรื่องการรับมือไวรัสโคโรนาในทุกๆ ด้านกลับทำได้ไม่ดีเท่าจึงเปิดช่องให้เกิดข้อมูลบิดเบือนผิดพลาด” นักวิชาการกล่าว

ในไทยที่ออกข้อจำกัดป้องกันการแพร่ระบาดเมื่อเดือน มี.ค. มีการส่งข่าวลวงว่าใครไม่สวมหน้ากากในที่สาธารณะจะถูกปรับ 200 บาท ทำให้ประชาชนกังวลมาก

เฟคนิวส์นี้แชร์กันอย่างรวดเร็วผ่านเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ ตำรวจต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าไม่เป็นความจริง แต่ไม่ถึง 1 เดือนต่อมาในบางจังหวัดผู้ที่ไม่สวมหน้ากากจะต้องเจอโทษปรับก้อนโต ยิ่งสร้างความสับสนเข้าไปใหญ่

159081400482

ใน "ปากีสถาน" ที่เพิ่งผ่อนคลายข้อบังคับจำกัดการแพร่ระบาดไปเมื่อเร็วๆ นี้ เฟคนิวส์คลิปหนึ่งเผยภาพเหล่านักช้อปพยายามหนีตำรวจที่เข้ามาตรวจร้านค้าฝ่าฝืนข้อกำหนดล็อกดาวน์ มีคนดูคลิปนี้ผ่านเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูบ และวอทส์แอพพหลายหมื่นวิว ก่อนมีคนบอกว่านี่เป็นคลิปเก่าที่ตำรวจบุกทลายซ่องแห่งหนึ่งในปี 2558

ที่อินเดียเพื่อนบ้านก็พอๆ กัน หลังประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเมื่อเดือน มี.ค. เฟคนิวส์ก็แพร่สะพัด

ที่เด่นๆ เช่น การกล่าวหากันทางการเมือง ข่าวลือเรื่องมาตรการล็อกดาวน์สุดโหดเกินจริง และข้อมูลเท็จหวังให้เกิดความตึงเครียดทางศาสนา

คลิปกราฟฟิกคลิปหนึ่งเล่าเรื่องกลุ่มสุดโต่งนิยมอิสลามใช้ขวานฆ่าชายฮินดูคนหนึ่งระหว่างล็อกดาวน์ คลิปนี้มีคนดูนับหมื่นๆ ครั้งบนเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ในความเป็นจริงการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นในปากีสถาน

ขณะที่ผู้ใช้บางคนเตือนว่าคลิปนี้เป็นเหตุการณ์ในต่างประเทศ แต่บางคนกลับปักใจไปแล้วบอกว่าคลิปนี้คือหลักฐานชี้ชัดว่าอินเดียจำเป็นต้องใช้กฎของกองทัพ

บรุนส์กล่าวว่า การที่เฟคนิวส์แพร่สะพัดส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้มากพอ

“ข้อมูลเท็จแพร่สะพัดมากขึ้นในช่วงเวลาเช่นนี้ เพราะประชาชนผิดหวังไม่ได้คำตอบในสิ่งที่ตนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไม และพวกเขาต้องทำอะไรเพื่อป้องกันตนเอง และถ้าประชาชนไม่สามารถหาคำตอบที่น่าพอใจจากแหล่งข้อมูลทางการได้ พวกเขาก็จะเริ่มหาข้อมูลจากที่อื่น” นักวิชาการกล่าว ตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพด้านการให้ข้อมูลของรัฐบาล