'4 แบงก์' หั่นดอกเบี้ยออมทรัพย์ ช่วยลดภาระกว่า 1.35 หมื่นล้าน

'4 แบงก์' หั่นดอกเบี้ยออมทรัพย์ ช่วยลดภาระกว่า 1.35 หมื่นล้าน

หุ้นกลุ่มแบงก์ พุ่งยกแผงร่วม 6% รับอานิสงส์ “4 แบงก์ใหญ่” หั่นดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.125-0.25% หนุนแนวโน้มผลประกอบการกลุ่มแบงก์ดีขึ้น ด้าน “ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี” เผยดอกเบี้ยที่ลดลงช่วยลดภาระ 4 แบงก์ใหญ่ ได้กว่า 1.35 หมื่นล้าน

ความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) วานนี้ (28 พ.ค.) เป็นไปในทิศทางเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มทั้ง 11 บริษัท สามารถปรับตัวขึ้นได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ใหญ่ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ปรับตัวขึ้นได้ 4-6% ซึ่งภาพรวมทำให้กลุ่มแบงก์ช่วยดันดัชนีหุ้นไทย(SET) ขึ้นมาราว 5 จุด สวนทางกับดัชนี SET ซึ่งปรับตัวลง 7.60 จุด มาอยู่ที่ 1,337 จุด

ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับขึ้นร้อนแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่  ซึ่งลดลงประมาณ 0.125-0.25% โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกสิกรไทย ลง 0.25% จาก 0.50% มาอยู่ที่ 0.25% ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ลดลง 0.125% จาก 0.375% มาอยู่ที่ 0.25%

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นปัจจัยบวกอย่างมาก เพราะโดยทั่วไปแล้วในช่วงดอกเบี้ยขาลง ธนาคารพาณิชย์มักจะปรับลดแต่ดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกดดันต่อผลประกอบการของธนาคาร

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ถูกปรับลดลง 0.25% ในครั้งนี้ จะทำให้แนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ใหญ่น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากฐานปกติราว 5% จากก่อนหน้านี้ ซึ่งประเมินว่าผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ใหญ่จะมีความเสี่ยงถูกปรับลง 5-7%

“จากเดิมที่คาดการณ์กำไรมีดาวน์ไซด์ราว 5-7% กลับกลายเป็นว่ามีอัพไซด์แทนประมาณ 5% หากประเมินจากดาวน์ไซด์เท่ากับว่ากำไรของหุ้นกลุ่มแบงก์ใหญ่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำที่คาดการณ์ไว้เดิมถึง 10% และน่าจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับขึ้นมา”

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า จากการสรุปข้อมูลในรายงาน ธ.พ.1.1 เดือน เม.ย. 2563 ของแบงก์ พบว่าพอร์ตสินเชื่อของหุ้นแบงก์ภายใต้การวิเคราะห์ของเรา เติบโต 4.9% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนก่อนหน้า โดยหลักมาจาก 3 ปัจจัยคือ 1.การใช้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องมากขึ้น 2.การชะลอตัวของยอดไถ่ถอนสินเชื่อ ในช่วงโครงการพักชำระหนี้ และ 3.ผลของการปรับใช้ TFRS9 ปีแรก ทำให้แบงก์ต้องรวมบางรายการเข้ามาในรายการลูกหนี้สุทธิด้วย

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีธนาคารทหารไทย หรือ TMBAnalytics กล่าวว่า หากดูยอดเงินฝากบุคคลธรรมดาและเงินฝากนิติบุคคล ในระบบธนาคารพาณิชย์มีประมาณ 90 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินฝากรวม 9.02 ล้านล้านบาท

แต่หาก แยกเฉพาะเงินฝากรายย่อย ที่เป็นเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ กระแสรายวัน พบว่า มีมูลค่าเงินฝากอยู่ที่ 7.7 ล้านล้านบาท ซึ่ง 61% เป็นเงินฝากออมทรัพย์ หรือ 4.7 ล้านล้านบาท

โดยในนี้ราว 52% คือ 4 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝากออมทรัพย์ จาก 5 ธนาคารขนาดใหญ่ คือธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ของ 4 แบงก์ใหญ่ ทำให้ภาระดอกเบี้ยเงินฝากต่อปี ลดลงราว 1.35 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 12% ของรายจ่ายดอกเบี้ยของทั้งระบบเมื่อปี 2562

โดยปัจจัยหลักๆของการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนหนึ่งมาจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เป็นภาระกดดัน NIM ของธนาคารได้หากไม่ลดอัตราเงินฝาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราเงินฝากลง เพื่อลดแรงกดดันดังกล่าว อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา เงินฝากไหลเข้ามาในธนาคารขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก ทำให้แบงก์มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อแบงก์ การลดดอกเบี้ยจึงเป็นปัจจัยสำคัญ