ผู้ปกครอง 88.9% กังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินช่วงเปิดเทอมใหญ่ 2563

ผู้ปกครอง 88.9% กังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินช่วงเปิดเทอมใหญ่ 2563

ผลจากโควิด-19 คาดผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 มูลค่าประมาณ 28,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% โดยกว่า 88.9% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563

ในช่วงของการเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 นี้ จะเป็นช่วงลำบากของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในมุมด้านการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองกว่า 88.9% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 จากหลายสาเหตุ อาทิ เงินออมไม่เพียงพอเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่กิจการต้องปิดให้บริการชั่วคราวมีผลต่อรายได้และผู้ปกครองบางรายถูกเลิกจ้างชั่วคราว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 ผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลาน (นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) เป็นมูลค่าประมาณ 28,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนโดยซื้อเฉพาะที่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ ผู้ปกครองกว่า 86% ยังมีความกังวลหากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน และอยากเห็นสถาบันการศึกษามีมาตรการในการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง สำหรับประเด็นการเรียนผ่านสื่อออนไลน์/ฟรีทีวี ซึ่งภาครัฐตั้งใจให้เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเทอมนั้น เป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการใช้เวลาในการเสริมทักษะความรู้ให้กับนักเรียนระหว่างรอเปิดภาคเรียนใหม่และการเตรียมพร้อมหากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากความช่วยเหลือเพื่อสร้างความพร้อมให้กับผู้ปกครองและนักเรียนแล้ว การออกแบบเนื้อหาและรูปแบบอาจต้องมีการปรับให้มีความน่าสนใจและทำให้เกิดการฝึกฝนด้านทักษะและความคิด และสามารถสื่อสาร 2 ทางได้ เพื่อให้การเรียนออนไลน์เป็นช่องทางเสริมการเรียนในชั้นเรียนของนักเรียนในแต่ละระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การเปิดจุดบริการอย่างสถานที่ราชการให้นักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในอุปกรณ์ให้สามารถเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์/ฟรีทีวีได้น่าจะช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาลงได้

  • โควิด-19 กระทบครัวเรือน 

ในช่วงนี้ของทุกปี ผู้ปกครองที่มีบุตรในวัยเรียนต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดเทอมใหม่ เช่น ค่าเทอม (สำหรับผู้ที่ส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ) ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมในโรงเรียน ค่าใช้จ่ายหนังสืออุปกรณ์การเรียนและเครื่องแต่งกายนักเรียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 นี้ แตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการมีงานทำและรายได้ของผู้ปกครองบางกลุ่มจากการที่ภาคธุรกิจต้องปิดตัว ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาใหม่ในปี 2563 เป็น วันที่ 1 ก.ค. 63 เพื่อลดความเสี่ยงแก่เด็กนักเรียน รวมถึงได้เตรียมแผนการเรียนออนไลน์ในระหว่างที่กำลังปิดเทอมและกรณีโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจพฤติกรรมความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและผลกระทบจากโควิด-19 ของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 (โดยเน้นกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ในช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 480 คน ซึ่งมีประเด็นดังนี้

  • ผู้ปกครองกว่า 88.9% กังวลถึงสภาพคล่องทางการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจมุมมองผลกระทบที่ผู้ปกครองได้รับภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 100% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มองว่าตนเองได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว โดยผลกระทบที่ได้รับจะมีมิติที่ต่างกัน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากรายได้ลดลงเนื่องจากถูกลดเวลาการทำงาน ถูกปรับลดเงินค่าจ้าง และผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเจ้าของธุรกิจมียอดขายลดลง นอกจากนี้มีผู้ตอบแบบถามบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากการไม่มีงานทำเนื่องจากกิจการปิดตัวลงชั่วคราว รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผู้ปกครองกว่า 88.9% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 นี้ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีความกังวลมาจากหลายสาเหตุ อาทิ เงินออมไม่เพียงพอเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่กิจการต้องปิดให้บริการชั่วคราวมีผลต่อรายได้และผู้ปกครองบางรายถูกเลิกจ้างชั่วคราว ซึ่งผู้ปกครองกลุ่มนี้ ปรับตัวด้วยการใช้แหล่งเงินจากหลายๆ ที่ นอกจากการใช้เงินออม อาทิ การใช้สินเชื่อจากจากสถาบันการเงินอย่างบัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสด โรงรับจำนำ ยืมญาติพี่น้องหรือเพื่อน นอกจากนี้ ผู้ปกครองบางกลุ่มได้ขอผ่อนผันการชำระค่าเรียน และผู้ปกครองบางรายขอผ่อนชำระค่าเทอมกับทางโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับทางสถานศึกษาบางแห่งได้เปิดให้ผู้ปกครองสามารถผ่อนชำระค่าเทอมเป็นงวดๆ ได้

  • ปรับลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา และค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ/เสริมทักษะ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 นี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 28,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายมาจากค่าธรรมเนียมด้านการศึกษาซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนนักเรียนใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราการเพิ่มที่ชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน ทำให้โรงเรียนเอกชนหลายแห่งไม่ได้ปรับขึ้นค่าเรียน และบางแห่งได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษา เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองส่วนใหญ่ปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในบางกลุ่ม ซึ่งจะมีผลต่อผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มที่คงจะต้องเตรียมแผนการตลาดรองรับกับรายได้ที่จะลดลง สำหรับกลุ่มที่ผู้ปกครองมีการปรับลดค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษา อาทิ ชุดนักเรียน/รองเท้า และอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ซึ่งผู้ปกครองต่างมองว่าจะลดจำนวนของสินค้าที่จะซื้อ หรือซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และค่าใช้จ่ายการเรียนกวดวิชา/เสริมทักษะสำหรับในช่วงการเปิดภาคการศึกษาใหม่ เนื่องจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ผู้ปกครองที่ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ชะลอการส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนกวดวิชา หรือการเรียนเสริมทักษะ เนื่องจากยังมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ผู้ปกครองที่มีปัญหาเรื่องรายได้จะปรับลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มการเรียนเสริมทักษะ ขณะที่ในส่วนของกวดวิชา ผู้ปกครองจะเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่สำคัญ

  • 48.4% ไม่พร้อมสำหรับรูปแบบการเรียนออนไลน์

จากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการเลื่อนเปิดเทอมใหญ่ออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค. 63 ซึ่งในระหว่างที่รอการเปิดเทอมทางกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้ทดลองออกอากาศการเรียนการสอนผ่านสัญญาณฟรีทีวีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 ขณะที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเทอม โดยได้เริ่มทดลองออกอากาศไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 นอกจากนี้ ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ทำให้สถาบันศึกษาได้เตรียมแผนการรองรับ เพื่อที่จะให้การเรียนดำเนินกิจกรรมต่อได้และลดผลกระทบที่จะเกิดกับนักเรียนให้น้อยที่สุด โดยหนึ่งในแนวคิดนั้นก็คือ การปรับรูปแบบการเรียนเป็นแบบออนไลน์

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่มีการเริ่มทดลองการเรียนการสอนไม่ว่าจะผ่านระบบออนไลน์หรือทางฟรีทีวี พบว่า มีการตอบรับในมิติที่ต่างกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจความพร้อมของผู้ปกครองในภาวะที่ต้องมีการเรียนในรูปแบบออนไลน์ พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความพร้อมคิดเป็นสัดส่วน 51.6% ขณะที่ผู้ปกครองที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์คิดเป็น 48.4% ของผู้ตอบแบบสอบถาม

โดยกลุ่มผู้ปกครองที่ไม่มีความพร้อมมีสาเหตุจาก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนอย่างคอมพิวเตอร์/แท็ปเล็ต (เครื่องมือสื่อสารในการเรียน) และอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ผู้ปกครองมองว่ารูปแบบการเรียนดังกล่าวไม่เหมาะสมกับเด็ก เนื่องจากมองว่าเด็กมีสมาธิไม่เพียงพอ กังวลว่าเด็กจะไม่เข้าใจบทเรียนและไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวคิดการให้เรียนผ่านสื่อออนไลน์/ฟรีทีวี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเทอมเป็นแนวคิดที่ดีที่นักเรียนสามารถใช้เวลาว่างในการเสริมทักษะ ความรู้กับบทเรียนใหม่ๆ ในช่วงระหว่างรอเปิดภาคเรียนใหม่และการเตรียมพร้อมหากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะสร้างให้การเรียนผ่านสื่ออนไลน์/ฟรีทีวี มีประสิทธิผล ก็อาจจะมีการพัฒนาหรือปรับเนื้อหา (Content) ให้น่าสนใจ เช่น การใช้ Animation กราฟฟิก เข้ามาช่วยเพื่อดึงความสนใจกับนักเรียนที่เป็นเด็กเล็ก หรือการปรับรูปแบบเนื้อหาของวิชาเรียนให้นักเรียนที่เรียนผ่านสื่อออนไลน์/ฟรีทีวี สามารถฝึกทักษะและความคิดได้ อย่างการออกแบบเนื้อหาเป็นรูปแบบเกมส์

และในส่วนของการสอนแบบสื่อออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต อาจมีการปรับให้มีช่องทางการถาม-ตอบบทเรียนซึ่งอาจจะเป็นแบบเรียลไทม์ (Real Time) หรือแบบออฟไลน์ (Offline) เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมก็อาจจะเกิดช่องว่างทางการศึกษา ซึ่งทางหน่วยงานรัฐอาจจะมีการแจกบทเรียนให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ รวมถึงการเปิดจุดบริการในสถานที่ราชการหรือหน่วยงานท้องถิ่นให้นักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในอุปกรณ์ให้สามารถเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์ได้น่าจะช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาลงได้

  • 86.9% อยากให้สถาบันศึกษามีมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มข้น

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะดีขึ้น แต่จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองกว่า 86% ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิค-19 หากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน ขณะที่ ผู้ปกครองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่กังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 หากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน

โดยเมื่อมีการเปิดเทอมแล้วนั้น ทางผู้ปกครองอยากเห็นสถาบันการศึกษามีมาตรการในการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง อาทิ การคัดกรอง/ตรวจวัดไข้เด็กก่อนเข้าเรียน มีจุดให้บริการเจลล้างมือ การให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัย การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียนไม่ให้มีความหนาแน่น การจัดระบบภายในห้องเรียนให้มีระยะห่างระหว่างกัน การทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอทั้งในห้องเรียน บริเวณรอบๆ โรงเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอน การปรับ/ลดกิจกรรมกีฬาที่มีการสัมผัสใกล้ชิด และการปรับตารางเรียน อาจจะมีการสลับเวลาเรียนระหว่างชั้นเรียนเพื่อลดความแออัดในห้องเรียน/โรงเรียน เป็นต้น

  • กลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการศึกษากับการปรับตัวในยุค New Normal

จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นได้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาคงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายทั้งการดำเนินธุรกิจภายใต้กำลังซื้อที่จำกัดของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองบางกลุ่มอาจจะซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาในจำนวนลดลงหรือซื้อเฉพาะที่จำเป็น และโจทย์การทำธุรกิจภายใต้มาตรฐานวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Normal) เพื่อดูแลและควบคุมไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นที่ต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ

ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษาอย่างเสื้อนักเรียน/รองเท้า อุปกรณ์การเรียน ทำตลาดสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ประกอบการร้านค้าอาจจะใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการลดราคาสินค้าแต่ปรับสต็อกสินค้าให้มีความหลากหลายของแบรนด์ที่มีระดับราคาต่างกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่ม การจัดสินค้าเป็นแพคเกจในราคาพิเศษ การทำตลาดสร้างการรับรู้ต่อเนื่องไม่เฉพาะแต่ช่วงใกล้เปิดเทอมเท่านั้น

นอกจากนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่ผู้ประกอบการร้านค้ายังคงต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ โดยอาจเพิ่มคลิปวิดีโอของสินค้าหรือการใช้การออกอากาศสดผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อให้ผู้ปกครองได้เห็นสินค้าเสมือนจริงและขนาดของสินค้า อย่างเครื่องแบบนักเรียน


กลุ่มผู้ประกอบการสถาบันกวดวิชา/เสริมทักษะทำแพคเกจเฉพาะวิชาสำคัญ ขณะที่รูปแบบการเรียนออนไลน์พร้อมช่องทางการถาม-ตอบแบบเรียลไทม์สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจต้องปรับกลยุทธ์ด้านราคาที่คงต้องมีการปรับราคาให้มีความแตกต่างตามรูปแบบของการเรียนการสอนระหว่างการเรียนในห้องเรียนและการเรียนผ่านระบบออนไลน์

นอกจากนี้การจัดแพคเกจวิชาที่สำคัญในราคาพิเศษเพื่อตอบโจทย์ผู้ปกครองที่มีกำลังซื้อจำกัด นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ให้บริการการเรียนการสอนผ่านรูปแบบออนไลน์
ผู้ให้บริการคงจะต้องมีการจัดช่องทางการถาม-ตอบ แบบเรียลไทม์หรือการบริการผ่านอีเมลเพื่อช่วยกลุ่มนักเรียนที่ไม่เข้าใจในบทเรียน นอกจากนี้ ในกรณีที่ทางการสามารถเปิดให้บริการการเรียนได้ตามปกติผู้ประกอบการยังคงต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยของนักเรียน อาทิ การจำกัดจำนวนผู้เข้าเรียนในแต่ละห้องเรียน
การมีมาตรการป้องกันในพื้นที่ห้องเรียนอย่างแผ่นกั้นระหว่างโต๊ะเรียน การคัดกรอง/ตรวจวัดไข้เด็กก่อนเข้าเรียน และการทำความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอ เป็นต้น


กลุ่มผู้ประกอบการผู้บริการโทรคมนาคมจัดโปรโมชั่นแพคเกจอินเทอร์เน็ตราคาพิเศษสนับสนุนการเรียนออนไลน์ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่โดยตรงของธุรกิจการศึกษา อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วงนี้ สถานศึกษา/สถาบันกวดวิชาเปิดให้บริการระบบการเรียนออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้น่าจะทำตลาดโปรโมทแพคเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรืออินเทอร์เน็ตโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับการศึกษาออนไลน์ เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการศึกษาในราคาพิเศษ เป็นต้น