ครม.ไฟเขียวช่วยปลดล็อกเอสเอ็มอีกู้ซอฟโลนท์แบงก์ชาติหวังช่วยภาคธุรกิจได้มากขึ้น 

ครม.ไฟเขียวช่วยปลดล็อกเอสเอ็มอีกู้ซอฟโลนท์แบงก์ชาติหวังช่วยภาคธุรกิจได้มากขึ้น 

ครม.ไฟเขียวปลดล็อกช่วยเอสเอ็มอีที่ไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ และเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล ให้ทำหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือให้ชัดเจนสำหรับลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอีและลูกค้าที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

 

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังกลับจัดทำรายละเอียดของแนวทางความช่วยเหลือด้านการเงินกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่เคยออกมาได้มากกว่านี้ แม้ว่าข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่ให้ครม.พิจารณาจะมีรายละเอียดพอสมควรแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีอยากให้กระทรวงการคลังไปลงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า จะมีมาตรการเพิ่มอะไรมาช่วยได้อีกบ้าง จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปก็ให้เสนอมายังครม.พิจารณาอีกครั้ง

“ครม.เห็นชอบในหลักการก่อนถึงแนวทางการช่วยเหลือเอ็มเอ็มอีของกระทรวงการคลัง แต่ขอให้ไปช่วยดูรายละเอียดของมาตรการที่จะเพิ่มเติมว่ามีอะไรอีกบ้าง มีวงเงินต่อรายเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้จะถือเป็นข่าวดีกับกลุ่มเอสเอ็มอีว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ และกำลังเดินการอยู่ ซึ่งจากนี้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมออกมาต่อไป”

ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงานว่า จากการวิเคราะห์และแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี3กลุ่ม ทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการให้สินเชื่ออเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ,กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมมาตรการซอฟท์โลนได้ แต่สถาบันการเงินไม่ส่งเข้าร่วมมาตรการซอฟท์โลน และกลุ่มเอสเอ็มอีที่คุณสมบัติไม่เข้าข่ายมาตรการซอฟท์โลน โดยพบว่า ยังมีกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ยังอาจเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนหรือความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐ

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ เพราะไม่เคยมีประวัติการขอสินเชื่อ สถาบันการเงิ ไม่เคยเห็นพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่ไม่มีคุณสมบัติตามมาตรการซอฟท์โลนนอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาจยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มนี้เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยเฉพาะกลุ่มกลุ่มเอสเอ็มอีที่คุณสมบัติไม่เข้าข่ายมาตรการซอฟท์โลน โดยเฉพาะการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจได้โดยเร็วขอให้มอบหมายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งอุดหนุนทางการเงิน การให้กู้ยืมเงิน การร่วมลงทุน หรือการให้ความ ช่วยเหลือผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.63

อีกทั้งยังเห็นควรให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพิจารณาลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตามมาตรการซอฟท์โลนให้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากที่สุด และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ พิจารณาทบทวนการกําหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดําเนินงาน และการกําหนดระบบแรงจูงใจของสถาบัน การเงินเฉพาะกิจให้สอดคล้องกับพันธกิจ และการดำเนินงานตามนโยบายที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับมอบหมาย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19ด้วย