เปิดรายละเอียด! ศบค. ไฟเขียว ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน

เปิดรายละเอียด! ศบค. ไฟเขียว ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน

เปิดรายละเอียด! มติที่ประชุม ศบค. ไฟเขียว เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ให้สิ้นสุด 30 มิ.ย.63 ตามที่ สมช. เสนอ และส่งให้ ครม. พิจารณา 26 พ.ค. 63

วันนี้ (22 พฤษภาคม 2563) เวลา 09.30 น. ณ  ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นายกรัฐมนตรีขอบคุณน้ำใจจากคนไทยที่บริจาคสิ่งของช่วยเหลือกัน พร้อมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันอย่างดีปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกัน และควบคุมโรค รวมทั้งการใช้มาตรการทางสังคมในการร่วมกันสอดส่องดูแล การปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ จนทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมายืนในอันดับต้นๆ ของประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ขอชื่นชมการดำเนินการบริหารสถานการณ์ของศูนย์โควิด-19 ทั้งการป้องกัน ควบคุม และการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน จนทำให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ เป็นที่น่ายินดีด้วยว่าการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศของไทยได้รับการยอมรับและชื่นชม จนมีหลายประเทศประสงค์จะรับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน เช่น สินค้าเกษตร จึงขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมแผนงานเพื่อรองรับไว้ด้วย
 
สถานการณ์การแพร่ระบาด กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาพรวมตัวเลขการติดเชื้อในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลุ่มประเทศในเอเชียยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่น่าจับตาดูสถานการณ์ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และประเทศในอาเซียน ประเทศอื่นๆ ที่ยังมีตัวเลขน่าเป็นห่วงได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย บราซิล ชิลี ซึ่งตัวเลขยังสูงต่อเนื่อง หลายประเทศพบการระบาดใหม่ภายหลังอนุญาตให้มีมาตรการผ่อนปรน เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ส่วนในไทยยังควบคุมได้ดี ตัวเลขเป็นเลขตัวเดียว และวันนี้ ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น


ในส่วนของการพัฒนาวัคซีนไทยพัฒนาครบทั้ง 6 เทคโนโลยี และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กับการพัฒนาวัคซีนของโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีโอกาสใช้วัคซีนในช่วงเวลาต้นๆ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ในโลกที่ผลิตได้ รวมทั้งไทยมีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations : CEPI) และสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute : IVI ) นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนของไทย ว่าจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เรื่องกระบวนการผลิต จนถึงการนำไปใช้งานว่าประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอน ต้องผ่านการทดลองที่จะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ส่วนวัคซีนจากต่างประเทศหากประเทศใดผลิตได้ และด้วยความสัมพันธ์ที่มีจะทำให้ไทยได้รับวัคซีนเป็นประเทศต้นๆ
 
ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้รายงานผลการดำเนินการด้านความมั่นคง การตรวจติดตามการดำเนินการตามมาตรการของกลุ่มกิจกรรมและกิจการที่ได้รับการผ่อนคลาย ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยชุดตรวจได้ตรวจติดตาม ให้คำแนะนำ และสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง การติดตามสถานการณ์ที่ห้าง IKEA โดยในช่วงแรกมีการดำเนินการที่ไม่เรียบร้อยเกิดจากจุดคัดกรองไม่เพียงพอ และปริมาณประชาชนมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่ได้ร่วมดำเนินการแก้ไขจนเรียบร้อย


สำหรับการขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันยังมี ผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและมั่วสุมอยู่ จึงเห็นควรให้ขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อควบคุม แต่อาจพิจารณาผ่อนปรนในบางข้อ เช่น ระยะเวลาเคอร์ฟิว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ว่า ต้องพิจารณาในภาพรวม ใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งใช้มาตรการทางสังคมร่วมด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดความร่วมมือช่วยเหลือกัน
 

อ่านข่าว
ด่วน! ข่าวดีอีกครั้ง ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' เพิ่ม

กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย โดยได้ดำเนินการตามมาตรการ State Quarantine และ Local Quarantine อย่างเข้มข้น และมีประสิทธิภาพ เกิดการยอมรับจากสังคม ประชาชน พร้อมกันนี้ ได้รณรงค์ ให้ความรู้ ขอรับความมือจากประชาชนในวงกว้าง โดยมีการชี้เบาะแสเข้ามายังภาครัฐ จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างให้เข้มงวด เพราะเป็นมาตรการที่มีความสำคัญ
 
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับความจำเป็นในการพิจารณาขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ ดังนี้  

  1. เพื่อเตรียมการรองรับมาตรการผ่อนปรนในระยะต่อไป การดำเนินการต้องมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลาง ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
  2. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อกำกับการบริหารจัดการเพื่อบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายอย่างเป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม
  3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด โดยที่มีข้อมูลว่าหลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อในระดับสูง และเมื่อประเทศไทยได้จัดทำมาตรการผ่อนคลายครบทั้ง 4 ระยะแล้ว จำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตการเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจกลับมาแพร่ระบาดของโรค  

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ยึดถือความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ ยังคงต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ การพิจารณาขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอน และชี้แจงให้ประชาชนและสังคมเข้าใจเหตุผลอย่างถูกต้อง
 
ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ การท่องเที่ยว การเตรียมการเพื่อรองรับการผ่อนปรนตามมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ เช่น โรงแรมต้องปรับตัวตามมาตรการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะค้างคืนที่โรงแรม โดยจะต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่นระบบแอร์ อาหาร เป็นต้น การศึกษา การเปิดภาคเรียนในการผ่อนปรนระยะ 4 กระทรวงศึกษาธิการ จึงต้องปรับแผนงาน เช่น เด็กปฐมวัย - อนุบาล 3 ที่ยังต้องไปโรงเรียน อาจมีการพิจารณาปรับสัดส่วนครูกับนักเรียนลดลง อาจจะต้องจัดเรียนเป็นผลัดๆ ละ 20 คน และมีผู้สนับสนุนครูด้วย โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งจะเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน เพราะมีศักยภาพและความยืดหยุ่น สามารถรองรับและบริหารจัดการได้
 
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุป ให้ทุกส่วนดำเนินการอย่างรอบคอบในทุกประเด็น ทั้งนี้ ในประเด็นที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น การเปิดเรียน เด็กในช่วงวัยต่างกัน การดูแลจะเป็นแบบเดียวกันคงไม่ได้ การเรียนแบบออนไลน์ใช้เฉพาะในช่วงนี้ ช่วงก่อนการเปิดเรียนเท่านั้นเพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ทบทวนการเรียนการสอน และกระตุ้นนักเรียนก่อนเปิดเทอม แต่เมื่อเปิดเทอมแล้วจะต้องเร่งพิจารณาดำเนินการเหลื่อมเวลาเรียน พิจารณาในรายละเอียดของการเรียนการสอน ต้องมีหลักสูตรในการอบรมวิชาชีพครูในลักษณะ tailored made เพื่อความเหมาะสม

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุผล 3 ข้อ โดย ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำขยายเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข คือ 1. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก. โดยการป้องกันการแพร่ระบาดในราชอาณาจักรของโรคโควิด-19 จะต้องสามารถดำเนินการต่อไปให้ได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับทางด้านสาธารณสุขการควบคุมโรค ไม่ใช่แค่นำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้แล้วได้ผล  ซึ่งไม่เพียงพอ ยังต้องมีการประกอบกฎหมาย 40 กว่าฉบับ มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงจะปฏิบัติตรงนี้ได้  ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ  การเคลื่อนย้าย การใช้ยานพาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย 

2. การเตรียมรองรับในระยะต่อไป ประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อกำกับการบริการจัดการ เพื่อบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายให้เป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม  3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังคงไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลว่า หลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อในระดับที่สูง  และเมื่อประเทศไทยได้จัดทำมาตรการครบทั้ง 4 ระยะแล้ว  จำเป็นจะต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย  แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตการณ์เพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจจะมีการกลับมาแพร่ระบาดของโรค  
 
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบให้มีการเสนอข้อเสนอนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายต่อ พรก.ฉุกเฉิน จากวันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายนนี้ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะหมดสิ้นเดือนนี้  ถ้าให้ยกเลิก พ.ร.ก.จะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้มีความมั่นใจในทุก ๆ เรื่องถึงแม้มี พ.ร.ก. ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่สุด แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีความเข้าใจว่าเป็นการทำเพื่อคนทุกคนและเพื่อประเทศไทย จึงประสบความสำเร็จถึงวันนี้
 
โฆษก ศบค. กล่าวว่า การจัดทำมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้ ขั้นตอนที่  1 วันที่ 23-24 พฤษภาคม การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้ ในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขั้นตอนที่ 2 วันที่ 25-26 พ.ค. ประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 3 วันที่ 27 พ.ค. ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 4 ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 5 มาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีผลบังคับใช้ต่อไป