3 หน่วยงานเร่งหารือ 'โมเดลเปิดเทอม'

3 หน่วยงานเร่งหารือ 'โมเดลเปิดเทอม'

สธ.เร่งสอบสวนโรค 2 รายใหม่ติดเชื้อจากชุมชนในประเทศ ขณะที่สธ.-ศธ.-ศบค.หารือโมเดลเปิดเทอม พื้นที่ไร้โรคเสี่ยงต่ำ อาจเปิดทั้งจังหวัดทุกชั้นเรียน เสี่ยงสูงเปิดแบบเหลื่อมเวลา-เรียนออนไลน์ กรมอนามัยกำชับร.ร.ยึดมาตรการ 6 ข้อ ป้องกันโควิด-19

       เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 2 รายจาก 3 รายนั้น พบในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้มาก่อน ถือเป็นการติดเชื้อจากชุมชนภายในประเทศ อาจจะมีกิจการที่สัมพันธ์กับการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้หากประชาชนการ์ดตก ไม่สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือไม่บ่อย ระยะห่างไม่มี ไปสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น ซึ่งประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนอยู่ในระดับที่ควบคุมไม่ได้


       “ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค โดยในส่วนของผู้ป่วยที่มีประวัติไปในร้านตัดผมนั้น จะต้องมีการสอบสวนว่าในเส้นทางที่ผู้ป่วยเดินทางไปนั้นมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนกี่คน ทั้งโรงพยาบาง ร้านตัดผมย่านประชาชนและคนในครอบครัว เช่นเดียวกับอีกรายที่มีประวัติเดินทางไปห้องสรรพสินค้าในจ.ชัยภูมิ โดยหากร้านตัดผมและห้างสรรพสินค้าได้มีการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ ก็จะทำให้การสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทำได้เร็วขึ้น แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคจากผู้ป่วย”นพ.อนุพงศ์กล่าว


       ขณะที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดโรงเรียนว่า สำหรับประเทศไทยอัตราเด็กติดเชื้อไม่ต่างจากต่างประเทศ โดยกลุ่มอายุ 10-19 ปี ติดเชื้อ 3.81 % ส่วนใหญ่ติดจากคนในบ้านหรือผู้ปกครอง แม้เด็กติดเชื้อจะไม่ค่อยมีอาการ แต่อาจจะใกล้ชิดกับเพื่อนเวลาอยู่ในโรงเรียนจนทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ซึ่งการเปิดโรงเรียนทุกประเทศทั่วโลกต้องพิจารณาอย่างมาก เพราะการเปิดโรงเรียนมีความเสี่ยง ในแง่ของจำนวนเด็กที่มีขนาดใหญ่จากหลาหลายครอบครัวมาอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 1 วันอย่างน้อย 5-6 ชั่วโมง ต่างจากการไปห้างสรรพสินค้าที่สลับเวลากันไป


        ทั้งนี้ แนวทางการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา การเปิดภาคเรียนป้องกันโควิด-19 มี 6 ข้อ ได้แก่ 1.มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา และหากเด็กมีประวัติเสี่ยงอย่างไร ผู้ปกครองต้องแจ้งบุคลกรสถานศึกษารับทราบ เช่น ช่วงปิดเทอมลูกไปอยู่กับตายายในจังหวัดและในจังหวัดนั้นสถานการณ์โรคเป็นอย่างไร เป็นต้น 2.สวมใส่หน้ากาอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3.มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ


       4.จัดให้มีการเว้นระยะห่าง ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนเด็กต่อชั้นเรียนไม่มากสามารถทำระยะห่างในห้องเรียนได้ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ควรจัดให้เด็กทำเป็นลักษณะของกลุ่มก้อนย่อยเดียวกัน เช่น เด็กชั้นเรียนเดียวกันอยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกันและทำกิจกรรมด้วยกันตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก จะทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่างจะสามารถติดตามและควบคุมเด็กที่มีอาการผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว 5.เน้นทำความสะอากพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เช่น สนามเด็กเล่น และ6.ความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่มเด็กจำนวนมาก เช่น กีฬาสีโรงเรียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรงเรียนสามารถเข้าไปประเมินความพร้อมในการเปิดเทอมได้ที่ แพลตฟอร์ม thaistopcovid ของกรมอนามัย
      ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีจังหวัดที่ปลอดโรคโควิดเป็นเวลาร่วมเดือน และจังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ มาตรการเปิดโรงเรียนจะดำเนินการเหมือนกันหรือไม่ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า โดยมาตรการต่างๆที่วางไว้ต้องทำเหมือนกันทั้งหมดเพื่อเป็นการควบคุมป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศบค. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข มีการศึกษาโมเดลการเปิดภาคเรียนของหลายๆ ประเทศ ในส่วนของจังหวัดที่ปลอดโรคมานาน เช่น 28 วันถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ น่าจะสามารถเปิดเรียนได้ทุกชั้นเรียน และทุกโรงเรียน ส่วนพื้นที่ที่ยังมีผู้ป่วยอยู่ก็เปิดเรียนแบบเหลื่อมเวลา โดยแบ่งว่าชั้นไหนจะเรียนเวลาไหน หรือบางส่วนเรียนออนไลน์ เป็นต้น เรื่องนี้ศธ.และศบค.เป็นพิจารณา