'ธนาคารน้ำใต้ดิน' ทางรอดภัยแล้ง-น้ำท่วมขัง

'ธนาคารน้ำใต้ดิน' ทางรอดภัยแล้ง-น้ำท่วมขัง

มจธ.เผย "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ช่วยบรรเทาความรุนแรงภัยแล้ง น้ำท่วมขังให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่ได้และใช้งบประมาณไม่มากขึ้นอยู่กับพื้นที่ หวังผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ

โครงการธนาคารน้ำใต้ดินริเริ่มโดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ที่นำเอาแนวคิดการเก็บน้ำไว้ใต้ดินจากประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทางภาคอีสานที่มักมีน้ำท่วมหนักในฤดูฝนและแล้งมากในฤดูร้อน

หลักการ คือการเติมน้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดินและนำออกมาใช้ได้เมื่อยามต้องการ โครงการนี้มีความร่วมมือกับกรมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภาคเอกชน โดยร่วมมือ กับ คุณธเนศ นะธิศรี ประธานกลุ่ม American Groundwater Solution (AGS) สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ และภาคมหาวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

159003798925

ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มจธ. กล่าวว่า การทำธนาคารน้ำใต้ดินแบ่งออกเป็นสองแบบหลักๆ คือ การทำเป็นบ่อเติมน้ำแบบระบบปิดและแบบระบบเปิด ขึ้นอยู่กับพื้นที่และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน

โดยการทำบ่อแบบระบบปิดนั้นจะมีขนาดเล็กเหมาะสำหรับการใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมขังระดับครัวเรือน อุปกรณ์การทำหาได้ง่าย โดยขุดดินที่ความลึกประมาณ 2 เมตร และใช้หินหรือประยุกต์วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งบประมาณนั้นจะอยู่ที่หลักพันบาท

159003799055

ขณะที่บ่อเติมน้ำระบบเปิดนั้นจะใช้พื้นที่มากกว่า แก้ปัญหาได้ในวงกว้าง โดยจะขุดเจาะหน้าดินให้ทะลุชั้นดินเหนียวและลึกลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ขุดเป็นรูปทรงหรือขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ หรืออาจจะเป็นการปรับปรุงบ่อเก่าโดยการขุดเป็นสะดือบ่อให้ลึกลงไปก็ได้เช่นกัน สิ่งที่สำคัญคือการขุดบ่ออื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้มีการเชื่อมโยงของระบบการไหลซึมของน้ำใต้ดิน  น้ำจึงจะสามารถแพร่ไปตามชั้นหินใต้ดินได้ในช่วงฤดูฝนที่มักมีน้ำหลากและท่วมขัง งบประมาณจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนบาทต่อบ่อขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่

159003798912

ดร.ปริเวท  กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนที่มจธ. รับผิดชอบ คือการนำเอาความรู้เชิงวิชาการ สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และการแปลภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาสนับสนุน เพื่อรวบรวมข้อมูลหาพื้นที่ในการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินเนื่องจากในแต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะชั้นดินและหินอุ้มน้ำแตกต่างกัน โดยตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินการในปี พ.. 2560 มีพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ตำบลบ้านผึ้ง จังหวัดนครพนม ตำบลวังหามแห จังหวัดกำแพงเพชร และตำบลหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ตำบลเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร

159003799015

ปัจจุบันทาง มจธ.อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนที่วิเคราะห์พื้นที่ทั่วประเทศถึงความเหมาะสมสำหรับการทำธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หากผู้นำชุมชนหรือบุคคลทั่วไปสนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ www.usagroundwater.com หรือขอเข้ารับการอบรมได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือติดต่อดร.ปริเวท วรรณโกวิท ที่อีเมล [email protected] โทร 089-866-5958

159003798924