มองโลกหลังโควิด-19 ผ่านมุม 'นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน นักธรุกิจ' ระดับโลก

มองโลกหลังโควิด-19 ผ่านมุม 'นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน นักธรุกิจ' ระดับโลก

มองโลกหลังโควิด-19 ผ่านความเห็นของผู้นำแต่ละภาคส่วน ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน และผู้บริหารระดับสูงกับไวรัสโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนโลกตลอดไป

แม้ว่าในประเทศไทยจะเริ่มเปิดประเทศในเฟสสอง จำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันมีจำนวนไม่เกินสิบคนต่อวัน และผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น แต่วิกฤติโควิด-19 ยังไม่จบ ในหลายประเทศตัวเลขผู้ติดเชื้อและคนเสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้น วัคซีนยังไม่ได้ถูกทดสอบและใช้ในหลายประเทศ ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่า อาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าที่โลกของเราจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ (normal)

โดยผลการสอบถามนักธุรกิจชั้นนำของโลกจากบริษัทใน Fortune 500 พบว่านักธุรกิจกว่า 38% คิดว่ากว่าพนักงานของพวกเขาจะเริ่มกลับมาทำงานในออฟฟิศได้อีกทีก็น่าจะภายในเดือนมิถุนายน 2021 ขณะที่นักธุรกิจกว่า 58% คิดว่าเศรษฐกิจจะไม่กลับมาเหมือนก่อนเกิดวิกฤติจนกว่าจะปี 2022 และอีก 52.4% คิดว่าพนักงานของเขาจะไม่เดินทางบ่อยๆ เหมือนเดิมอีกต่อไป

แล้วโลกใหม่หลังวิกฤติครั้งนี้จะเป็นเช่นไร? ลองมาฟังมุมมองของแต่ละภาคส่วนดูบ้าง

  • มุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์

"Chen Zhiwu" ประธาน Asia Global Institute มองว่า เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มสงบลง สงครามเย็นระหว่างจีนกับสหรัฐจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เริ่มเห็นการกล่าวโทษกันว่าใครเป็นต้นกำเนิดไวรัส เศรษฐกิจแต่ละประเทศในอีกไม่กี่เดือนหรือปีข้างหน้าจะเริ่มยากลำบากขึ้น จะเห็นการแยกตัวของประเทศจีนจากโลกตะวันตก ผลจากวิกฤติครั้งนี้อาจทำให้จีนกลับเข้าสู่รากฐานของคอมมิวนิสต์ในยุคเหมาเจ๋อตุงอีกครั้งในด้านการมองโลกและด้านนโยบายประเทศ

"Stephen Jen" อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF และ Morgan Stanley 
ที่ปัจจุบันดูแล Eurizon SLJ Capital กองทุน Hedge 
ละบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 จะทำให้โลกของเรานั้นเริ่มคล้ายจีน ในมิติของการมีส่วนร่วมของภาครัฐในกิจกรรมของภาคเอกชน

ด้าน "Kathy Matsui" นักวางกลยุทธ์การลงทุนในประเทศญี่ปุ่นจาก Goldman Sachs Group ระบุว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เรายังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่จากเดิมใช้ชั่วโมงการเข้าออฟฟิศเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ถ้าสามารถปรับการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ผู้ชายญี่ปุ่นมีเวลาอยู่บ้าน มีเวลารับผิดชอบงานบ้านมากขึ้น จะทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นมีเวลามากขึ้นที่จะทุ่มเทให้กับหน้าที่การงานของตัวเอง

ในส่วนของบริษัท Goldman Sachs คิดว่าการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศต่อการจ้างงาน จะช่วยทำให้ GDP ของประเทศญี่ปุ่นโตขึ้นถึง 10% และในเคสที่เราวาดฝันไว้คือ การที่สัดส่วนชั่วโมงทำงานของเพศชายและหญิงเมื่อเข้าใกล้กับค่าเฉลี่ย OECเมื่อไร (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ก็จะทำให้ GDP ประเทศโตได้ถึง 15%

  • มุมมองจากนักการเงิน

"Ray Dalio" ผู้ก่อตั้งกองทุน Bridgewater กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะหนักขึ้นกว่าเดิม การก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นและดอกเบี้ยพันธบัตรที่เข้าใกล้ศูนย์ จะลดความน่าสนใจของการถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินอื่นๆ ความมั่งคั่ง การเมือง รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ จะมีผลกระทบต่อการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจของโลก ความแตกต่างของสหรัฐและจีนในการจัดการกับวิกฤติครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังจากนี้ 

"Alan Patricof" VC และ MD ของบริษัท Greycroft ผู้ช่วยสร้างบริษัท Office Depot, Apple และ Audible กล่าวว่า เราเริ่มใช้ชีวิตแบบครอบครัวกันมากขึ้น การรับประทานอาหารร่วมกันแบบครอบครัวจะกลับมาอีกครั้ง โลกหลังจากนี้จะเป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้น พวกเราจะมีความชาตินิยมมากขึ้น และถึงเวลาที่พวกเราต้องร่วมมือกันเพื่อต่อสู้ปัญหาอย่างเรื่องสภาวะโลกร้อน การนำเข้าจะลดลงและส่งเสริมการผลิตในประเทศให้มากขึ้น รวมถึงเลิกพึ่งพาต่างชาติไม่ว่าจะน้ำมันหรือชิ้นส่วนอิเลกโทรนิค 

ขณะที่ "Mike Corbat" ซีอีโอของ Citigroup กล่าวว่า กิจกรรมทางการเงินนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เริ่มจากหนังสือรับรองที่ออกโดยธนาคารจะถูกเก็บอยู่บนบล็อกเชน การติดต่อลูกค้าทางออนไลน์ หรือการจัด Roadshow IPO แบบ virtual ลูกค้าที่เคยไม่สนใจเรื่องดิจิทัลก็ถูกสถานการณ์บังคับให้ทำ จนได้กิจกรรมหลักทางการเงินจะไม่อยู่ในโลกอนาล็อกอีกต่อไป พวกเราจะต้องทำให้คนเข้ามาสู่เศรษฐกิจในโลกดิจิทัลมากขึ้น โดยกุญแจสำคัญคือการให้ทุกคนสามารถใช้บริการออนไลน์ที่มีราคาถูกหรือฟรีไปเลย 

"Susan Lyne" หุ้นส่วนบริษัท BBG Ventures ระบุว่า บริษัทต่างๆ จะเริ่มลดค่าใช้จ่ายการเดินทางเพื่อธุรกิจ ทุกคนถูกบังคับให้หาหนทางในการติดต่อธุรกิจผ่านการใช้โปรแกรม Zoom หรือโปรแกรมอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอ ซึ่งหลายคนก็เริ่มคุ้นเคยและปรับตัวกับมันได้ ซึ่งอาจถูกประยุกต์ใช้กับหน้าที่ความเป็นพ่อและแม่คนก็ได้ โดยเฉพาะคนเป็นพ่อที่จากนี้ไปสามารถเลี้ยงลูกผ่านโลกออนไลน์ได้เช่นกัน จากปกติต้องทำงานนอกบ้านวันละ 16 ชั่วโมงต่อวัน

ด้าน "Joe Lonsdale" หุ้นส่วนบริษัท 8VC และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Palantir ชี้ว่า โลกของการจ้างงานจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ้างคนในเมืองที่บริษัทตั้งอยู่เท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อโลก ทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนตัวได้คล่องขึ้น ซึ่งอาจทำให้คนชั้นกลางมีความกดดันมากขึ้น ซึ่งผมก็เป็นห่วงคนกลุ่มนี้อยู่

"James Gorman" ซีอีโอของ Morgan Stanley มองว่า ไม่คิดว่าทุกคนจะต้องทำงานจากที่บ้าน เพราะยังคงมีอาชีพที่ต้องใช้การสอนกัน ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ต้องระดมสมองร่วมกัน ต้องส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ผ่านการทำงานเป็นทีม นั่นคือการที่จะทำให้องค์กรเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แต่ในอนาคตแน่นอนว่าอาจมีบางวันในสัปดาห์หรือทุกเดือน ที่พนักงานจำนวนมากจะได้รับอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านแทน เพราะได้ลองใช้ชีวิตแบบนี้มาแล้ว 

ในส่วนของ "Jim Chanos" ผู้ก่อตั้ง Kynikos Associates กล่าวว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากนี้คือ เรื่องห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ บริษัททั้งหลายที่ยังคงซื้อชิ้นส่วนสินค้าจากประเทศจีนจะยังคงซื้อต่อไปหรือไม่ เช่นเดียวกันกับการที่ภาคการเงินพยายามจะหาคำตอบว่า เศรษฐกิจของจีนจะมีผลกระทบต่อเราแค่ไหน

ปิดท้ายจากมุมมองนักการเงินด้วย "Sam Zell" ผู้ก่อตั้ง Equity Group Investments ที่บอกว่า ตอนนี้ทุกคนคงคิดถึงการกลับตัวของเศรษฐกิจแบบ V Shape และคงจดจำผลกระทบของการแพร่ระบาดนี้ไปอีกนาน เมื่อไรทุกคนจะกลับมากล้าที่จะนั่งเครื่องบิน พักในโรงแรม เดินห้างสรรพสินค้าอีกครั้ง แม้ว่าทุกธุรกิจที่กล่าวมาจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ไม่ได้แปลว่าธุรกิจเหล่านี้จะกลับมาเหมือนเดิมได้

  • มุมมองจากผู้บริหาร

เริ่มจาก "Tadashi Yanai" ผู้ก่อตั้ง Uniqlo กล่าวว่า ผู้คนจะออกจากบ้านน้อยลง ใช้ชีวิตบริเวณใกล้บ้านตัวเองมากขึ้น และใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งจะ Uniqlo ก็คิดถึงการออกแบบเสื้อผ้าของเราในแบบนี้เช่นกัน คือดูไม่เครียดเกินไป เมื่อโลกเปลี่ยนไปอุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็จะเปลี่ยนไปด้วย

"Al Kelly" ซีอีโอของ Visa Inc มองว่า การสร้างความตระหนักในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนั้น จะไม่ใช่แค่เพียงในภาคครัวเรือนอีกต่อไป มันจะขยายไปสู่ระดับชุมชน รัฐ ประเทศ และโลก ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ซึ่งเข้าใจว่าจากนี้ไปการกระทำของคนเพียงหนึ่งคนจะส่งผลกระทบต่อหลายพันชีวิตทั่วโลก เรื่องการล้างมือ การจับต้องสิ่งของต่างๆ นอกบ้านนั้นกลายเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าเราจะกดปุ่มลิฟท์อย่างไร เปิดประตูอย่างไร หรือทักทายเพื่อนแบบไหน การซื้อของของเราจะเป็นแบบใด จะตรวจสอบสินค้าอย่างไร ต่อแถวเข้าคิวแบบไหน หรือจะจ่ายเงินแบบใด

ด้าน Glenn Fogel ประธานและซีอีโอของ Booking.com และผู้หายป่วยจากไวรัสโควิด-19 กล่าวว่า จะเห็นการตรวจไข้ในทุกสนามบิน และคนที่เข้าข่ายติดเชื้อจะต้องถูกกักตัว การถูกบังคับให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามตัวจะเป็นเรื่องปกติถ้ามาจากประเทศอื่น หากป่วยจากโรคโควิด-19 ก็จะถูกสอบประวัติว่ามีใครที่เพิ่งติดต่อไป ดังนั้นเรื่องความเป็นส่วนตัวจะต้องหายไปเมื่อไปเยือนประเทศที่ไม่ได้อยากต้อนรับคนนอกประเทศ

ขณะที่ Meg Whitman ซีอีโอของบริษัทวีดีโอสตรีมมิ่ง Quibi อดีตผู้บริหารของ Ebay และ Hewlett-Packard ระบุว่า การทำงานจากบ้านจะกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะเราเรียนรู้การทำงานแบบนี้จนคุ้นเคยไปแล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว จากที่ทำงานออฟฟิศมาตลอดสี่สิบปี แล้วอยู่ดีๆ ก็ต้องมาหาวิธีทำงานจากบ้าน ซึ่งพบว่ามันง่ายและมีประสิทธิภาพมาก และมันน่าจะเปลี่ยนการสื่อสารกันระหว่างครอบครัวด้วยเช่นกัน ทุกสุดสัปดาห์จะต้องใช้ Zoom ในการติดต่อกับครอบครัวสามีเป็นเวลาชั่วโมงกว่า ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยนะ

"Jaime Augusto Zobel de Ayala" ประธาน Ayala Corp บริษัทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า คนจะเปลี่ยนวิธีในการปฏิบัติต่อกัน สินค้าและบริการต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป ผมมีห้างอยู่หลายสาขาที่ผู้คนยังมาใช้บริการ แต่ก็เชื่อว่าตลาด e-commerce จะเติบโตมากขึ้นและเป็นหนึ่งใน New Normal หลังโควิด-19

ในส่วนของ "Jon Wertheim" บก. ของ Sports illustrated ระบุว่า ในปกติของวิกฤต กีฬาคือสิ่งที่ทำให้คนมารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 9/11  พายุเฮอริเคนแคทรินา หรือภาวะสงคราม แต่ในวิกฤติโควิด-19 นี้ไม่มีอะไรที่แย่ไปกว่าอุตสาหกรรมกีฬาที่ทำให้คุณติดเชื้อได้ จะมีอะไรแย่ไปกว่าการจับคนกว่า 60,000 คน อยู่ร่วมกันในที่เดียวกันแล้วบอกให้อยู่กันไม่แตะตัวหรือใกล้กัน

"คำถามคืออุตสาหกรรมกีฬาหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปทิศทางไหน แม้ว่าตอนนี้กีฬาจะถูกย้ายไปอยู่ทางทีวี ทางมือถือ ที่ไม่ต้องให้คนมาที่สนามแข่งขัน ทำให้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดของสื่อจะมีผลต่อวงการกีฬาอย่างแน่นอน ต่อให้ไม่มีแฟนบอลในสนาม ก็ยังมีผู้แข่งขัน กรรมการ เจ้าหน้าที่ และคนถ่ายทอดสด แม้ว่าจะไม่มีการขายตั๋ว ก็ยังมีคนอีกกว่าร้อยชีวิตในสนามที่ยังทำให้การแข่งขันกีฬาเกิดขึ้นอยู่ดี สิ่งที่เราต้องจับตามองหลังจากนี้คือ เมื่อไรเราจะรู้สึกปลอดภัย หรือเมื่อไรที่เศรษฐกิจจะแย่จนเรารับไม่ได้อีกต่อไป” 

ด้าน "Eric Yuan" ซีอีโอของ Zoom กล่าวว่า หลังจากวิกฤติครั้งนี้ วิธีการทำงานจะเปลี่ยนไปจากเดิม การทำงานจากที่บ้านจะกลายเป็นเรื่องปกติ ช่วงเวลานี้คือจะเป็นตัวบอกเราว่าการทำงานจากที่บ้านจะได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งมองว่ามันมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง สำหรับ Zoom แล้ว ความแตกต่างของลูกค้าธุรกิจกับคนใช้งานทั่วไปไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เราต้องพยายามที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจในเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการใช้งาน  Zoom ด้วยเช่นกัน” 

เราควรใส่ใจให้มากขึ้นในเรื่องสุขภาพจิตของคนทั่วโลก สิ่งที่เราต้องใส่ใจคือเรื่องการสูญเสีย ความอ้างว้างและความเครียดทางการเงิน แน่นอนว่าอาจต้องใช้เวลา แต่เราจะผ่านมันไปด้วยกันJennifer Morgan อดีตซีอีโอของ SAP

  • มุมมองจากคนกำหนดนโยบาย

ปิดท้ายด้วยมุมมองจากผู้กำหนดนโยบายกันบ้าง "Jean-Claude Trichet" อดีตประธาน ECB กล่าวว่า บทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้จะเพิ่มความสามารถในการฟื้นฟูของเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชน จากสิ่งที่เห็นในปัจจุบันว่าการหยุดกะทันหันทั้งภาคการผลิตและอุปสงค์ทั่วโลก เราไม่ควรขึ้นกับแหล่งผลิตเพียงที่ใดที่หนึ่งเพียงเพื่อต้นทุนต่ำ ควรให้ความสำคัญกับการจัดการและการกระจายความเสี่ยง ซึ่งจะกลายเป็นกุญแจสำคัญเพื่อนำโลกของเราเข้าสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

Stanley McChrystal" อดีตแม่ทัพของกองทัพสหรัฐ ที่ปัจจุบันดูเรื่องการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดไวรัสในเมืองบอสตัน ระบุว่า การระบาดในครั้งนี้สร้างความตึงเครียดให้กับเรา ได้เรียนรู้ว่าทุกคนนั้นเกี่ยวเนื่องกัน และเห็นแล้วว่าห่วงโซ่อุปทานของโลก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างก็เกี่ยวเนื่องกัน เราไม่สามารถชนะวิกฤติได้ด้วยตัวคนเดียว กลุ่มเดียว หรือแม้กระทั่งชาติเดียว เราจะชนะได้ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น จึงต้องเริ่มคิดถึงปัญหาใหญ่ของโลกในเรื่องอื่นด้วยนั่นคือเรื่องสภาวะโลกร้อน ความไม่เท่าเทียมในรายได้ หรือชีวิตของสัตว์อย่างสุนัขที่จะเปลี่ยนไป

ขณะที่ "Robert Reich" เลขานุการด้านแรงงานของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton มองว่า ถ้ามองแบบโลกไม่สวย ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในระดับประเทศและสังคม เราจะทำตัวไม่ใส่ใจ ไม่เตรียมพร้อมในแบบเดิมไม่ได้ สหรัฐคือประเทศที่รวยที่สุดในโลก แต่กลับไม่สามารถทำให้คนในประเทศปลอดภัยได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกมาก คนอเมริกันจะต้องเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียทีถึงความสำคัญของรัฐบาล ถ้าภาครัฐทำงานได้ไม่ดีมันก็เป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิด วิกฤตตอนนี้คือเรื่องความเป็นและความตาย โลกหลังจากนี้ทุกคนคงต้องคิดแล้วว่ารัฐบาลแบบใดที่ทำงานเป็น เราควรจะต้องมีระบบสุขภาพที่ดีที่สุดในโลกไม่ใช่หรือ

ปิดท้ายที่ "Ann Krueger" อดีตเจ้าหน้าที่ IMF และปัจจุบันทำงานที่ Johns Hopkins School ภาคการศึกษาต่างประเทศขั้นสูง ที่กล่าวว่า ในวิกฤติครั้งนี้มีตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศที่น่าสนมากมายในการลดความเสียหายให้น้อยที่สุด ซึ่งอาจนำพาไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป ในทางกลับกันมีหลายประเทศเลือกที่จะแยกตัวออกจากประเทศอื่นและไม่ให้ความร่วมมือใดๆ วิกฤติของประเทศเหล่านั้นก็จะจบได้ช้าลงและอาจส่งผลถึงความเสียหายระดับโลกได้