เปิดขั้นตอนก่อนยื่นฟื้นฟู คลังขายหุ้น 3% 'การบินไทย' เจรจาเจ้าหนี้

เปิดขั้นตอนก่อนยื่นฟื้นฟู คลังขายหุ้น 3% 'การบินไทย' เจรจาเจ้าหนี้

คนร.เคาะการบินไทย ยื่นศาลขอฟื้นฟูกิจการ ชง ครม.อนุมัติวันนี้ เผยคลังจ่อขายหุ้น 3% ให้กองทุนวายุภักดิ์ ขาดทุน 654 ล้านบาท เล็งปรับบอร์ดใหม่ 3 คน ดึง “เทวินทร์-ชาติชาย-จรัมพร” เสริมทัพ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (19 พ.ค.) จะมีการพิจารณามติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า แนวทางการฟื้นฟูกิจการการบินไทยประกอบด้วย

1.เริ่มจากการให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทย 3% ให้กองทุนวายุภักดิ์ ภายหลังการขายหุ้นแล้วทำให้คลังเหลือการถือหุ้น 47%

2.จากนั้นจะปรับโครงสร้างการบริหาร โดยให้กรรมการลาออกจนเหลือ 3 คน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าเหลือใครและจะเติมกรรมการใหม่เข้าไป ขั้นแรก 3 คน ที่วางตัวไว้ ได้แก่ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ ปตท. นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ และอดีต ดีดีการบินไทย

3.ร้องขอต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเมื่อศาลรับฟื้นฟูกิจการ หนี้ของการบินไทยจะผิดนัดชำระหนี้ (default) โดยอัตโนมัติ ในประเด็นนี้ทีมบริหารคิดว่าจะดูแลในส่วนหนี้สหกรณ์ 3.6 หมื่นล้านบาท ยืดหนี้ออกไป โดยมีเงื่อนไขจะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม

4.ล้มแนวคิดเดิมที่ต้องการให้ การบินไทย เป็นโฮลดิ้ง คัมพานี โดยการยกเลิกการตัดขายกิจการในเครือทั้งหมด เช่น ครัวการบินไทย หรือ ไทยสมายล์

5.การดูแลเจ้าหนี้ต่างประเทศ จะเดินคู่ขนานกับศาลไทยและศาลสหรัฐ ที่ต้องยื่นฟื้นฟู โดยอาศัย Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ เพราะการบินไทยต้องดำเนินกิจการต่อไป หากบินไปในต่างประเทศอาจจะโดนยึดเครื่องบินไทย รวมทั้งการดูแลเจ้าหนี้ลิสซิ่งเครื่องบินด้วย ซึ่งมีสหรัฐ อังกฤษ และเยอรมัน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่

ทั้งนี้ ฐานะการเงินของการบินไทย สิ้นปี 2563 จากการประเมินของฝ่ายบริหารการบินไทย ระบุว่าจะขาดทุนสุทธิ 59,000 ล้านบาท ส่วนของทุน 4.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) อยู่ที่ 220,000 ล้านบาท

1589820536100

คลังจ่อลดถือหุ้นบินไทย3%

แหล่งข่าวจาก คนร.กล่าวว่า คนร.มีมติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยลง 3% หรือลดจาก 51% เหลือ 48% เพื่อให้พ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูกิจการคล่องตัวขึ้น

ทั้งนี้ สัดส่วนหุ้นที่ลดลงดังกล่าว จะถูกขายต่อให้กองทุนวายุภักษ์ โดยหลังจาก ครม.มีมติตามที่ คนร.เสนอแล้ว คณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์จะประชุมโดยเร็ว เพื่อขอมติเข้าซื้อหุ้น

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์ในราคาตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4 บาทต่อหุ้น อาจทำให้กระทรวงการคลังขาดทุนเพราะต้นทุนอยู่ที่ 14 บาทต่อหุ้น แต่เพราะมติ คนร.เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจึงยอมรับ

ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นการบินไทยรวม 1,113.93 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 51.03% หากกระทรวงการคลังต้องขายหุ้นออก 3% จะมีหุ้นที่ถูกขายออกมาราว 65.48 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นการขาดทุนรวม 654 ล้านบาท

ส่วนการเคลื่อนไหวของหุ้นการบินไทย วานนี้(18พ.ค.) ปรับลดลงชนกรอบล่าง (ฟลอร์) ของการซื้อขาย โดยมาปิดตลาดที่ 4.10 บาท ลดลง 0.72 บาท คิดเป็นการลดลง 14.94% มูลค่าการซื้อขายรวม 363.02 ล้านบาท

158985710879

คนร.หมดหน้าที่หลังยื่นศาล

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอบคำถามประเด็นการบินไทยต้องพ้นจากรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ว่า ตามขั้นตอนคงเป็นอย่างนั้นเพราะจะได้คล่องตัวขึ้น โดยเมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้ คนร.หมดอำนาจกำกับดูแล โดยอำนาจการบริหารจะอยู่กับผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลตั้งขึ้นตามคำแนะนำเจ้าหนี้

นอกจากนี้ การฟื้นฟูกิจการของกิจการที่มีหนี้สินจำนวนมากนั้น เป็นสิ่งที่ดีเพราะไม่ต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด และไม่ต้องชำระหนี้ เนื่องจากหลังการยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการจะเกิดภาวะ Automatic Stay หรือการพักการชำระหนี้โดยผลของกฎหมาย ซึ่งเจ้าหนี้เรียกให้แบ่งชำระหนี้ไม่ได้

ผู้ทำแผนมีอำนาจเท่า “ดีดี”

ส่วนผลต่อพนักงานการบินไทยขึ้นกับผลประกอบการและเส้นทางการบิน ซึ่งผู้ทำแผนฟื้นฟูคงต้องหารือและตกลงกับพนักงาน เพราะผู้ทำแผนมีอำนาจเสมือนเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)

ส่วนประเด็นการเปิดบินระหว่างประเทศในเดือน ก.ค.นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายดังกล่าว ลูกหนี้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการจะประกอบธุรกรรมได้ ส่วนการล้มละลาย คือ การทำให้ลูกหนี้ต้องหยุดทุกทางแล้วนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด แต่กรณีการบินไทยไม่ได้พูดถึงการให้ล้มละลาย

เตรียมตั้งทีมเจรจาเจ้าหนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ก่อนการเข้าสู่การยื่นศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการจะต้องมีการตั้งทีมเจรจากับเจ้าหนี้ให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงเจ้าหนี้ต่างประเทศเพราะถ้าเจรจาไม่เรียบร้อยก็ไม่สามารถยื่นศาลล้มละลายได้ 

ทั้งนี้ การยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายของไทยถือเป็นขั้นตอนทางกฎหมายมีผลบังคับใช้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ในขณะที่การยื่นล้มละลายต่อศาลในสหรัฐเพราะมีหลายความเห็นว่าการบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างชาติจำนวนมาก ดังนั้นอาจจะต้องยื่นศาลสหรัฐเพื่อมีผลบังคับใช้ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการสรุป

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการเจรจาเจ้าหนี้ต่างชาติไม่แล้วเสร็จ อาจทำให้การบินไทยถูกยึดคืนเครื่องบินเมื่อนำไปทำการบินและลงจอดที่สนามบินในต่างประเทศนั้น อาจเกิดขึ้นได้หากการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้และการบินไทยไม่บรรลุข้อตกลง หรือกรณีเจ้าหนี้ขอให้ชดใช้หนี้แต่การบินไทยนิ่งเฉย

นอกจากนี้ กระบวนการยื่นศาลล้มละลายในต่างประเทศ ยังทำให้การบินไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพื่อตั้งทีมที่ปรึกษา ศึกษาขั้นตอนทางกฎหมาย และดำเนินการยื่นตามกระบวนการศาล จึงไม่น่าจะเหมาะสมหากการบินไทยจะดำเนินการในกระบวนการนี้ 

ดังนั้นสิ่งที่การบินไทยต้องเร่งดำเนินการ คือการศึกษาสัญญาเช่า-ซื้อ หรือการลงทุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ว่าการลงนามสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศใดบ้าง และมีข้อกฎหมายอย่างไร พร้อมทั้งเตรียมดำเนินการเจรจาเจ้าหนี้