เปิดฉากทัศน์'โควิดล่าสุด' สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังผ่อนปรนมาตรการ

เปิดฉากทัศน์'โควิดล่าสุด' สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังผ่อนปรนมาตรการ

เปิดฉากทัศน์โรคโควิด-19ถึงสิ้นเดือนก.ย. หลังผ่อนปรนมาตรการบางส่วน คาดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มกว่า 100 รายต่อวัน วิกฤติราว 105 ราย

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย โดยอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้(State Quarantine) เป็นชาย 6 ราย หญิง 1 ราย อายุ 17-31 ปี เป็นผู้เดินทางกลับจากประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ภาพรวมประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,025 ราย รักษาหายแล้ว 2,854 ราย ยังรักษาอยู่ในรพ. 115 ราย และเสียชีวิต 56 ราย ทั้งนี้ จำนวนคนไทยกลับเข้าประเทศเข้ารับการกักตัวใน State Quarantineและพบผู้ป่วยยืนยัน จำแนกตามประเทศต้นทาง ข้อมูล ณ วันที่ 14 พ.ค.2563 ประเทศอินโดนีเซีย 65 ราย ปากีสถาน 16 ราย อังกฤษและคาซัคสถานประเทศละ 2 ราย มาเลเซีย 4 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และ สหรัฐอเมริกา ประเทศละ 5 ราย จีน เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ประเทศละ 1 ราย รวม 97 ราย


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมของศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานการคาดการณ์รูปแบบการระบาดของโรคโควิด-19 เป็น 3 ฉากทัศน์จนถึงเดือนกันยายน 2563 โดยฉากทัศน์ที่ 1 ใช้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการควบคุม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรการปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆ คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 15 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อที่รายงาน 3 รายต่อวัน ความชุกผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อยู่ห้องไอซียู 15 ราย สถานพยาบาลยังรองรับเพียงพอ ฉากทัศน์ที่ 2 มีมาตรการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมบ้าง คาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 114 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อที่รายงาน 24 รายต่อวัน ความชุกผู้ป่วยวิกฤติ 105 ราย ก็จะเกิดปริมาณที่พอรับได้ไหว และฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งเป็นการผ่อนปรนมากๆ เปิดทุกกิจการ/กิจกรรม คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 398 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อที่รายงาน 65 รายต่อวัน ความชุกผู้ป่วยวิกฤติ 289 ราย ซึ่งการเลือกในฉากทัศน์ที่ 2 น่าจะเหมาะสมและดีที่สุด


นพ.ทวีศิลป์ รูปแบบการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยหากลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชมได้เพียง 30-50 %นั้นหลังจากนี้จะมีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น แต่หากสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนได้ 70 %ขึ้นไปจะดีที่สุด คือ จะกดผู้ติดเชื้อลงมาและมีตัวเลขที่ไม่สูงมาก ซึ่งสรุปบทเรียนจากแบบจำลองสถานการณ์ระบาดวิทยาในระดับประเทศที่ผ่านมา นั้น ประสิทธิผลของมาตรการเข้มข้นระยะสั้น ต้องลดอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนลงให้เป็น 77% ของอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนในระยะก่อน ตรงนี้ช่วยให้ไทยหลีกเลี่ยงการระบาดใหญ่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนมาตรการควบคุมโรคในระยะผ่อนคลาย ต้องมีประสิทธิผลจึงจะไม่เกิดการระบาดใหม่ซ้ำ ต้องติดตามให้การแพร่กระจายเชื้อในชุมชนต่ำกว่า 50% ของอัตราการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนในระยะก่อนมีมาตรการระยะสั้น จะช่วยให้ประเทศไทยเลี่ยงการระบาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องมี 3 T คือ trace การค้นหา test การทดสอบ และ treat การรักษา