ปรับ 'ธุรกิจ' เข้าสู่ 'ดิจิทัล' แบบเร่งด่วนในยุคโควิด-19

ปรับ 'ธุรกิจ' เข้าสู่ 'ดิจิทัล' แบบเร่งด่วนในยุคโควิด-19

ในภาวะวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจต่างปรับหาแนวทางใหม่เพื่อความอยู่รอด ใครที่ปรับตัวได้ก่อนถือว่าได้เปรียบสูง เพราะหากเพิ่งเริ่มปรับตัวในช่วงนี้ ถ้าเป็นธุรกิจขนาดกลางอาจพอไหว แต่หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่นับว่าท้าทายมากที่จะนำข้อมูลทั้งระบบเข้าสู่ออนไลน์

ตอนนี้คนไทยขายของอยู่ 3 ช่องทางคือ มาร์เก็ตเพลส เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ช่วงเวลาตอนนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลเติบโตดีหมดทุกตัว ยกเว้นก็แต่ธุรกิจดิจิทัลที่เกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยว เหตุการณ์โควิดที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่าคนไทยมีการปรับตัวและมีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตได้เก่งมากขึ้นๆ การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลนั้นไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องของบุคคล ธุรกิจเองก็พยายามปรับตัวเพื่อที่จะเข้าสู่ดิจิทัลหรือโลกออนไลน์อย่างรีบด่วน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ทราบว่ามีบริษัทที่ทำซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งที่เปิดมานานมากแล้ว และเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มากทีเดียว ต้องการที่จะเอาสินค้าเข้ามาขายในออนไลน์เช่นกัน แต่ประเด็นที่เป็นปัญหา ก็คือเขาต้องการที่จะทำให้เสร็จภายใน 5 วัน

จริงอยู่ที่ว่าการจะปรับธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์บางอย่างปรับได้เลย เช่น วิธีการทำงาน ปรับวิธีการสื่อสาร ปรับระบบเอกสาร การปรับเหล่านี้ไม่ค่อยยากเท่าไหร่ แต่การจะปรับเอาระบบข้อมูลของบริษัทที่มีอยู่มหาศาลขึ้นไปขายบนออนไลน์ มีระบบ ERP มีบัญชีที่ยิ่งใหญ่อลังการ ฯลฯ พวกนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรครับ ซึ่งคนที่ปรับตัวไปออนไลน์แล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เมื่อมีโควิด-19 เข้ามาต้องบอกว่าคนเหล่านั้นมีความได้เปรียบกว่ามาก

ใครปรับตัวได้ก่อนถือว่ามีความได้เปรียบสูงมากสำหรับธุรกิจที่จะเข้าสู่ด้านดิจิทัล ตัวอย่างร้านขายคอมพิวเตอร์อย่าง JIB ที่ตอนนี้แม้สาขาที่มีอยู่ 200 กว่าสาขาต้องปิดเกือบหมด แต่เขาก็ยังมีออนไลน์และช่องทางออนไลน์ของเขาก็โตอย่างมาก เพราะเขาได้มีการเตรียมการในเรื่องของออนไลน์มาหลายปีแล้ว ในขณะที่ร้านขายคอมพิวเตอร์บางร้านที่ขายแต่หน้าร้าน วันดีคืนดีเมื่อเจอคำสั่งให้ปิด เมื่อปรับตัวไม่ทันแล้วถึงอยากจะเข้ามาขายออนไลน์กัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อโควิด-19 จบลง คือการใช้ชีวิตที่จะเป็น New Normal สังเกตได้ว่าได้เกิดเหตุการณ์ใหม่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือเริ่มมีช่องทางการขายใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ตอนนี้คนไทยขายของอยู่ 3 ช่องทางคือ มาร์เก็ตเพลส เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย

แต่ในโซเชียลมีเดียเกิดเหตุการณ์หนึ่งที่ทุกคนคงเห็นแล้วคือ ทุกสถาบันการศึกษาออกมาเปิดมาร์เก็ตเพลสของตัวเอง โดยสมาชิกอาจเป็นอดีตนักเรียน นิสิตนักศึกษา ดูแล้วก็เหมือนกับเป็นการรียูเนี่ยน ทุกคนจะกลับไปโพสต์ กลับไปขาย บางส่วนก็เพื่อการขายของจริงๆ อารมณ์เดียวกับการเปิดท้ายขายของ

เดี๋ยวนี้การสร้างช่องทางการขายไม่ยากเท่าใดนัก แค่ตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กขึ้นมา คนก็แห่ไปขายของในนั้นกันหมดเลย บางทีมีคนเป็นแสนคนเลยในห้องนั้นๆ ผมลองเข้าไปศึกษาดูพบว่า 1.เป็นการขายของกันจริงๆ 2.เริ่มเป็นการเข้าไปเจอไปหาเพื่อน และ 3.บางคนก็ไปโพสต์อะไรตลกๆ

รูปแบบการขายในกลุ่มเหล่านั้นถือว่าเป็นการขายของกันแบบจริงๆ จากความเป็นพี่เป็นน้องกัน จึงมีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกันอยู่ มีความผูกพัน เริ่มมีการติดต่อทักทาย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงทำให้เกิดรูปแบบการค้าแบบใหม่ที่ผมเชื่อว่าไม่เคยมีแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน หรืออาจจะมีบ้างในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่ตอนนี้มันเป็นในระดับสถาบันและเป็นการครอสตั้งแต่รุ่นหนึ่งจนถึงรุ่นปัจจุบันเลยทีเดียว

ธุรกิจแบบนี้จุดหนึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์กันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือคนที่อาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนหรือเคยวางตัวห่างๆ แต่เมื่อมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกัน เช่น การเรียนสถาบันเดียวกัน คณะเดียวกัน มันจะช่วยลิงก์กัน เมื่อรู้จักกันปุ๊บก็จะเกิดความเชื่อถือขึ้นมาทันที เมื่อถึงเวลาซื้อขายก็จะง่ายขึ้น

ผมว่าเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับท่านที่ทำธุรกิจควรลองเข้าไปศึกษาดู ผมเองก็ใช้วิธีนี้ด้วยเช่นกัน โดยให้พนักงานในบริษัทช่วยกันไปโพสต์แคมเปญของบริษัท TARAD.com ที่เปิดบริการฟรีเพื่อช่วย sme ในวิกฤติโควิดนี้ ให้แต่ละคนไปโพสต์ในห้องขายของตามสถาบันของตัวเอง ซึ่งมีคนไหลเข้ามาร่วมแคมเปญจำนวนไม่น้อยเพราะเขามีความเชื่อไงครับ