WeWorkพลิกเกม‘นิวนอร์มอล’ ชู“สปีด-ยืดหยุ่น”สร้างรายได้

WeWorkพลิกเกม‘นิวนอร์มอล’  ชู“สปีด-ยืดหยุ่น”สร้างรายได้

‘โคเวิร์คกิ้งสเปซ’ หนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงถือเป็นความท้าทายในการ ‘เอาตัวรอด’ จากนิวนอร์มอลที่เปลี่ยนไป ‘WeWork’ โคเวิร์คกิ้ง สเปซ รายใหญ่ต้นตำรับจากอเมริกา จะปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานใหม่นี้อย่างไร

ทูโรฮาส ที ฟูวาด กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาหลี WeWork กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤติที่คาดเดาไม่ได้และส่งผลต่อทางธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการวิจัยของ McKinsey ที่ระบุว่า องค์กรที่มีความคล่องตัวจะมีโอกาสสูง 70% ที่จะมีสุขภาพขององค์กรที่ดีและเป็นเครื่องบ่งชี้ประสิทธิภาพขององค์กรในระยะยาว สิ่งที่ทำให้ WeWork แตกต่างและรักษาฐานลูกค้าด้วยเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป

โดยดำเนินการสอดคล้องภายใต้มาตรการของรัฐบาลที่ คำนึงถึงสุขอนามัยและความปลอดภัยของสมาชิกผู้ใช้บริการเป็นอันดับแรก และได้มีการเพิ่มมาตรการด้านความสะอาดของสถานที่อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนที่มาใช้บริการ

“วิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความต้องการต่อการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายมิติ เช่น การเป็นทางเลือกพื้นที่โยกย้ายได้อย่างเร่งด่วน หากเกิดสถานการณ์ไม่ปกติอีกครั้ง หรือแบ่งปันความคิดเห็นในเรื่องการให้ความช่วยเหลือพนักงานในการทำงานด้วยการใช้ประโยชน์และพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่”

ด้วยการเปิดให้บริการ ‘Inside the Spaces’ หรือการชมสถานที่เสมือนจริง เพื่อให้ลูกค้าสามารถชมสถานที่ได้โดยไม่ต้องมาเยือนสถานที่จริง ซึ่งตั้งแต่ทดลองใช้งานก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีการจัดเว็บบินาร์ หรือ สัมมนาออนไลน์กับผู้นำทางธุรกิจและสมาชิก เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนไอเดียทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

“หลังโควิด-19 เราคาดว่าธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซมีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากดีมานด์ในสถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวจะเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจแบบดั้งเดิม เรามองว่าสัญญาเช่าแบบเดิมจะได้รับความนิยมน้อยลง และจะถูกแทนที่โคเวิร์คกิ้งสเปซที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งมาพร้อมกับการร่วมมือกันระหว่างบริษัทต่างๆในรูปแบบของคอมมูนิตี้ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือที่ต้องการได้”

ฟูวาด มองว่า แม้ว่าการทำงานที่บ้าน (Work from Home) จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของบริษัทจำนวนมากในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าวิธีการนี้ไม่เหมาะในระยะยาวและแนวโน้มว่าองค์กรจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจโคเวิร์คกิ้งสเปซมากขึ้นจากจุดแข็งในเรื่องของความยืดหยุ่นในการเช่า และการจัดการพนักงานเพื่อให้เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต

"จากประสบการณ์ที่เราเรียนรู้ผ่านการดำเนินงานในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำพบว่าความต้องการของสถานที่ทำงานจะยังคงมีอยู่ และที่มากไปกว่านั้นคือการให้ความสำคัญกับความร่วมมือ (Collaboration) และความเป็นคอมมูนิตี้ 3 ปีที่ผ่านมาในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่เข้ามาใช้บริการและองค์กรเข้าใจโคเวิร์คกิ้งสเปซมากขึ้น"

ทั้งนี้จากการศึกษาร่วมกับ IDC (ข้อมูล IDC Info Brief : Co-Working for Enterprise–A Southeast Asian Perspective, February 2020) พบว่า โคเวิร์คกิ้งสเปซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตต่อเนื่องมีองค์กรที่ใช้พื้นที่ทำงานร่วมกัน17% และอีก 70 %กำลังวางแผนที่จะใช้พื้นที่ทำงานร่วมกันในอีก 1-3 ปีข้างหน้า

ฟูวาด กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของ WeWork ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะให้ความสำคัญเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต (Relevan) ของพันธมิตรทางธุรกิจและตั้งเป้าอย่างสมเหตุผล(Realistic)เริ่มจากมองหาวิธีการที่จะพัฒนาการให้บริการด้านสถานที่ โดยปรับเปลี่ยนจากการเป็นธุรกิจที่ให้บริการเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นแพลตฟอร์มที่ให้การบริการอย่างครบวงจรเพื่อขยายการเติบโตอย่างต่อเพื่อให้ผลกำไรและสร้างกระแสเงินสด

“แม้ว่าการแข่งขันโคเวิร์คกิ้งสเปซในไทยจะรุนแรงและมีผู้ให้บริการจำนวนมาก แต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตต่อไปได้โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าองค์กร ไม่ได้มองว่าผู้ให้บริการรายอื่นเป็นคู่แข่ง เพราะเรามีจุดเด่นที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น อาทิ พื้นที่อยู่ใจกลางเมือง ความยืดหยุ่น มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และความเป็นชุมชน รวมถึงความเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกในราคาที่เหมาะสม และสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอตามขนาดขององค์กรและความต้องการในการใช้พื้นที่”

สำหรับกลุ่มลูกค้าของ WeWork ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยลูกค้าองค์กรเติบโตอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมหลากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดหาบุคลากร อย่าง Argyll Scott บริษัทที่ให้บริการด้านการเงิน ธุรกิจสินค้าออนไลน์ บริษัทด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงหน่วยงานของภาครัฐ ท่ามกลางสภาวะที่ผันผวนนี้ คาดว่าหลายองค์กรหันมาเลือกใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวและประหยัดต้นทุน รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและฟรีแลนซ์หรือสตาร์ทอัพ

“เชื่อว่าทุกทำเลที่เปิดให้บริการ จะสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างไปของแต่ละสมาชิกในย่านใจกลางย่านธุรกิจที่กระจายทำเลตั้งแต่สาทรไปจนถึงสุขุมวิท สามารถช่วยให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้ อาทิ อาคารเอเชียเซ็นเตอร์ ย่านสาทร และอาคาร ทีวัน ทองหล่อ บนถนนสุขุมวิทเป็นสองแห่งแรกที่เปิดให้บริการ ตามมาด้วยทรู ดิจิทัล พาร์ค , อาคาร สปริง ทาวเวอร์ และโครงการ เดอะ ปาร์ค คาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี”