กูรูแนะยื่น 'ล้มละลาย' รีสตาร์ท 'การบินไทย' เหินฟ้า

กูรูแนะยื่น 'ล้มละลาย' รีสตาร์ท 'การบินไทย' เหินฟ้า

การบินไทยในอดีตแม้จะฝ่ามรสุมคลื่นลมมาแล้วหลายลูก ผ่านการทำแผนฟื้นฟูกิจการมาหลายหน แต่ไม่มีครั้งไหนที่หนักหนาสาหัสเท่าครั้งนี้

หากดูงบการเงินปี 2562 การบินไทย มีรายได้รวมกว่า 1.88 แสนล้านบาท แต่มีผลขาดทุนสุทธิถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 1.93 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้การบินไทยยังมีหนี้สินรวมกว่า 2.44 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่ต้องชำระภายใน 1 ปี รวมกว่า 2.17 หมื่นล้านบาท ขณะที่กระแสเงินสดมีเพียง 2.16 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงสภาพคล่องธุรกิจที่ตึงตัว และที่สำคัญหากดูศักยภาพในการหารายได้ของการบินไทย พบว่า อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ติดลบ 2.51% ขณะที่ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ติดลบถึง 75.29% บ่งชี้ว่า การบินไทยอยู่ในขั้นโคม่า

ยิ่งมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ซึ่งทำให้ธุรกิจการบินทั่วโลกหยุดชะงัก "การบินไทย" ในเวลานี้จึงไม่ต่างจาก "ซอมบี้ คอมพานี" ที่อยู่ได้เพราะเงินสนับสนุนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนในแวดวงธุรกิจจึงสนับสนุนให้ "การบินไทย" เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อทำแผนฟื้นฟูกิจการ "รีสตาร์ท" ธุรกิจขึ้นมาใหม่ 

"บรรยง พงษ์พานิช" ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เห็นด้วยที่จะเข้าช่วยเหลือการบินไทยให้พ้นจากภาวะวิกฤติ เพราะเชื่อว่าการบินไทยยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ หากทิ้งไปเลย อาจสร้างความเสียหายในวงกว้างได้ 

"เวลานี้ต่อให้ตัดสินใจล้มเลิกกิจการ และเอาสินทรัพย์ที่มีอยู่ในการบินไทยทั้งหมดไปขายเพื่อชำระหนี้ ก็เชื่อว่าไม่เพียงพอ ดังนั้นความเสียหายก็ยังคงอยู่ จึงเห็นด้วยที่รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือ"

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปช่วย หรือจะใส่เงินเข้าไปดูแล รัฐไม่ควรเป็นผู้ค้ำประกัน แต่ควรเป็นผู้ปล่อยกู้แทน เพราะการเป็นเจ้าหนี้ จะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าเป็นผู้ค้ำประกัน แต่ก่อนใส่เงิน ควรเสนอให้ การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฏหมายล้มละลายก่อน เพราะจะทำให้การบินไทยมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ สามารถขอแปลงหนี้เป็นทุนได้ รวมทั้งยังสามารถตัดหนี้สูญ และยังต่อรองกับสหภาพได้ด้วย 

บรรยง ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะสายการบินใหญ่ๆ ระดับโลก ก็เคยผ่านวิกฤติแบบนี้จนต้องฟื้นฟูกิจการก่อน เชื่อว่าการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้การบินไทยรีสตาร์ทธุรกิจได้ใหม่อีกครั้ง 

แต่หากการบินไทยยังไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย เชื่อว่า ต่อให้ได้เงินเข้าไปอีก 5 หมื่นล้าน ก็ไม่เพียงพอ ซึ่งเงินจำนวนนี้คงช่วยให้การบินไทยอยู่ได้ต่ออีกเพียง 5 เดือนเท่านั้น ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไปโปรยบนฟ้า แม้จะมีคนได้ประโยชน์บ้าง เช่น พนักงานที่ได้เงินเดือน แต่เงินจำนวนนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาว และปัญหาที่สะสมมาในอดีตได้

"อยากเสนอให้ การบินไทย ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ภายใต้กฏหมายล้มละลาย ก่อนใส่เงินเข้ามาช่วยเหลือ เพราะการเข้าสู่การฟื้นฟู จะทำให้ ธุรกิจกลับมาสตาร์ทได้ใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องหน้าอายที่จะทำ เพราะมีแอร์ไลน์ระดับโลกตั้งเยอะแยะที่ผ่านกระบวนการนี้มาก่อน" 

บรรยง ระบุว่า หากดูผลดำเนินงานของธุรกิจการบินในปี 2562 จะพบว่า การบินไทยเป็นสายการบินเดียวที่ขาดทุน และตอนนี้ก็ขอเลื่อนส่งงบการเงินออกไปเป็นเดือนส.ค. สะท้อนว่า ข้อมูลทางบัญชีใช้ไม่ได้ ที่ขาดทุนก็มาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือเรื่องต้นทุนที่สูง แต่ถึงแม้จะลดต้นทุนได้ ก็เชื่อว่ายังไม่ทำให้การบินไทยกลับมามีกำไร เพราะปัญหาไม่ได้มีเพียงแค่ต้นทุนที่สูงเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม นอกจากเสนอให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ตามกฏหมายล้มละลายแล้ว ในระยะยาว การบินไทยอาจต้องกลับมาคิดเรื่อง การเลิกเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะจะทำให้การบินไทยคล่องตัวมากขึ้นในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ แนะนำว่า การบินไทย ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ ให้มืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่ในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ไม่ใช่คณะกรรมการ ที่มาจากทหาร หรือข้าราชการ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มีประสบการณ์ในการบริหารวิกฤตลักษณะนี้มาก่อน ควรเลิกจัดโคต้ารัฐมนตรี มาเป็นคณะกรรมการการบินไทย หรือตั้งข้าราชการมานั่งเป็นคณะกรรมการ เพราะการฟื้นฟูการบินไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์

"อยากเสนอว่า การตั้งบอร์ดขึ้นมานั่งในการบินไทย ควรเสนอบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมือนกับ นายชุมพล ณ ลำเลียง ซึ่งเป็นผู้ผ่านวิกฤติ และกอบกู้วิกฤติมาหลายธุรกิจ เคยได้รับเชื้อเชิญจากบริษัทใหญ่ระดับโลก ให้ไปแก้ไขวิกฤต ทั้งการเป็น British Airways Public Company Limited ,ประธานกรรมการ บริษัทสิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด ประเทศสิงคโปร์, เคยกอบกู้วิกฤตฟื้นฟูกิจการของ ปูนซิเมนต์ไทย และแก้วิกฤตธนาคารไทยพาณิชย์ ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงควรเชิญบุคคลลักษณะนี้มาช่วยกันแก้ปัญหาให้กับการบินไทย"

บรรยง บอกด้วยว่า ในสมัยที่เขานั่งเป็นบอร์ดการบินไทย แม้จะทำให้การบินไทยกลับมามีกำไร 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่เก่งพอ และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนก็ถูกเชิญให้ออกก่อน ดังนั้นก็ต้องให้คนมีความรู้ มีประสบการณ์จริงมาช่วย เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นผ่าน "เฟสบุ๊ค" ส่วนตัวว่า หากการบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการจะส่งผลดี ดังนี้ 1.สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ 2.พักชำระหนี้ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้การบินไทยชำระหนี้ในช่วงเวลาฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยจึงมีเวลาที่จะฟื้นฟูกิจการได้ เช่น ลดฝูงบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง ปรับเปลี่ยนวิธีจำหน่ายตั๋ว ลดจำนวนพนักงาน ลดเงินเดือนและสวัสดิการ เป็นต้น 3.เจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ลง ยืดระยะเวลาชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุนได้

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการมีข้อเสียต่อการบินไทยและภาพรวมของประเทศ ดังนี้ 1.ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนาน 2.สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ซื้อหุ้นกู้จากการบินไทยอาจขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนจากการบินไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

3.อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดตราสารหนี้ ถ้าการฟื้นฟูกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ ศาลอาจมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ของการบินไทยอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้การบินไทยล้มละลายก็ได้ โดยศาลจะตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาจัดการชำระบัญชี รวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดแล้วนำมาเฉลี่ยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกคน ซึ่งใความเป็นจริงเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนน้อยกว่าจำนวนหนี้จริงเป็นอย่างมาก แต่วิธีนี้ถือเป็นวิธีการสุดท้ายที่กฎหมายจะสามารถบังคับเอากับการบินไทยได้