'อุตตม' ตั้งบอร์ดสรรหา เลือก 'ผู้ว่าธปท.' คนใหม่

'อุตตม' ตั้งบอร์ดสรรหา เลือก 'ผู้ว่าธปท.' คนใหม่

“คลัง” ตั้งบอร์ดคัดเลือก ผู้ว่าการแบงก์ชาติ แทน “วิรไท” ที่ครบวาระสิ้นเดือนก.ย.นี้ เผยตามกฎหมายต้องเปิดรับสมัครพร้อมคัดเหลือ 2 คน ก่อนชงให้ รมว.คลัง เคาะเหลือคนเดียวภายใน 2 ก.ค.นี้ ย้ำต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือการเงินธนาคาร

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เซ็นแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ มาแทน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบันที่จะครบวาระในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเตรียมจะประชุมนัดแรกในเร็วๆ นี้ 

โดย คณะกรรมการคัดเลือก ที่ตั้งขึ้นมาครั้งนี้มีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย 1.นางอรรชกา สีบุญ​เรือง​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2.นางรังสรรค์​ ศรีวรศาสตร์​ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง 3.นายชัยวัตน์​ วิบูลย์สวัสดิ์​ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

4.นายนริศ​ ชัยสูตร​ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 5.นายวรวิทย์​ จำปีรัตน์​ ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 6.นางนันทวัลย์​ ศกุนตนาค​ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ 7.นางจันทรา​ บูรณฤกษ์​ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

สำหรับกระบวนการคัดเลือกผู้ว่าการธปท. ตามกฎหมายกำหนดให้ คณะกรรมการคัดเลือก ทำหน้าที่คัดสรรบุคคลที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน เสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุดขึ้นเป็นผู้ว่าการธปท. โดยกระบวนการดังกล่าวต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ก่อนที่ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบันจะครบวาระ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 2 ก.ค.นี้ 

ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธปท. ตามกฎหมายกำหนดให้ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร ส่วนในด้านการปฎิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าการธปท. มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ ธปท.

นอกจากนี้ ผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าการธปท.จะต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ 1.มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง 2.เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 3.เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 4.เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

5.เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง 6.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี 7.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อวกว่าหนึ่งปี 

8.เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ 9.เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของธปท.

สำหรับ นายวิรไท ถือเป็นผู้ว่าการธปท. คนที่ 19 ลำดับที่ 23 เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่่ 1 ต.ค.2558 โดยในสมัยที่ นายวิรไท ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธปท.นั้น แม้ระหว่างทางไม่มีแรงกดดันจากภาคการเมืองมากนักเมื่อเทียบกับผู้ว่าการในอดีต แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความท้าทายอย่างมากในการบริหารเศรษฐกิจ 

โดยเฉพาะช่วงเวลาปัจจุบันที่เผชิญกับแรงกดดันจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ทำให้ระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินมีความปั่นป่วนอย่างมาก จนเป็นที่มาของการดำเนินนโยบายการเงินแบบนอกตำราเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เช่น การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF) 

นอกจากนี้ที่ผ่านมา นายวิรไท ยังเป็นผู้ว่าการ ธปท. คนแรกที่กล้าลงมารือโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ "สังคมไร้เงินสด" ผ่านการผลักดันระบบพร้อมเพย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินและการชำระเงินต่างๆ รวมทั้งยังผลักดันให้ ธปท. เริ่มทดลองใช้เงินดิจิทัลผ่านโครงการอินทนนท์ 

ขณะเดียวกัน เขายังผลักดันโครงการปลูกฝังวินัยการออมเงินให้กับประชาชนทั่วไป พร้อมกับผลักดันโครงการ "คลินิกแก้หนี้" เพื่อลดภาระหนี้ให้กับผู้ที่เคยก่อหนี้เกินตัวเพื่อมีโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่