'องอาจ' ชี้ รัฐทำโพลเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ควรไร้ประโยชน์แอบแฝง

'องอาจ' ชี้ รัฐทำโพลเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ควรไร้ประโยชน์แอบแฝง

"องอาจ" ชี้รัฐบาลทำโพล ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ควรทำด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไม่มีประโยชน์แอบแฝง

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) เตรียมทำโพลหยั่งเสียงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า การที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทำโพลสำรวจว่าควรคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้หรือควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีทราบดีว่าเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปหรือไม่เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคม เพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีทั้งผลบวกและลบในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทำงานป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อทำการสำรวจและมีผลสำรวจออกมาแล้ว ก็อาจมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อผลการสำรวจนั้น เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมในการสำรวจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้การสำรวจได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และเมื่อมีผลการสำรวจออกมาก็จะเป็นผลการสำรวจที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้

แต่ถ้าสำรวจว่าควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แบบขอไปที หรือมีวาระซ่อนเร้นก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าสำรวจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจหรือเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าหวังผลเอาผลการสำรวจมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา โควิด-19 อย่างแท้จริง ก็จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทับซ้อนปัญหาเก่าเพิ่มขึ้น

เพื่อให้การสำรวจว่าควรคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือควรยกเลิกได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ควรดำเนินการดังนี้

1.ให้ใครทำการสำรวจ การที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กอ.รมน. ทำการสำรวจอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานภาครัฐ อาจถูกมองว่ารับงานเพื่อสนองความต้องการของนายกฯ เพื่อผลทางการเมือง นายกฯ ควรหาหน่วยงานทางวิชาการ ทำการสำรวจเพื่อสร้างการยอมรับ เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับหน่วยงานที่ทำสำรวจแล้ว ก็จะเกิดการไม่ยอมรับผลการสำรวจด้วย

อ่านข่าว : 'สิระ' หนุนรัฐทำโพลเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่

2. เครื่องมือและวิธีการที่ใช้สำรวจคืออะไร ในการสำรวจตรวจสอบความคิดเห็นของประชาชนมีเครื่องมือทางวิชาการและวิธีการที่จะใช้หลากหลายชนิด ควรจะคิดหาเครื่องมือที่สร้างการยอมรับได้

3. เนื้อหาสาระได้มาตรฐานทางวิชาการหรือไม่ อย่างไร การสำรวจความคิดเห็นที่จะได้ผลคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของการสำรวจด้วย ถ้าเนื้อหาบิดเบี้ยว ผลที่ตามมาก็จะบิดเบี้ยวตามไปด้วย ควรออกแบบเนื้อหาให้ได้มาตรฐานทางวิชาการเพื่อได้ผลที่ไม่บิดเบี้ยว

"ขอฝากนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาการทำสำรวจว่าจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือยกเลิกด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไม่มีอะไรแอบแฝง ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนเพื่อใช้ผลการสำรวจเป็นประโยชน์ในการทำงานสู้ภัยโควิด-19 อย่างแท้จริง" นายองอาจ กล่าว