ติดเชื้อระลอก2 ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

ติดเชื้อระลอก2 ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

ขณะที่นานาประเทศทั่วโลกกำลังเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หน่วยงานสาธารณสุขต่างก็ส่งเสียงเตือนเรื่องการติดเชื้อและเสียชีวิตระลอก 2 ที่พูดกันถึงความรุนแรงว่า หากระบาดรอบ 2 การติดเชื้อและเสียชีวิตจะมากขนาดไหน?

ขณะนี้นานาประเทศทั่วโลกกำลังเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมๆ กับที่หน่วยงานสาธารณสุขต่างส่งเสียงเตือนเรื่องการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าการติดเชื้อและเสียชีวิตระลอก 2 จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่พูดกันถึงความรุนแรงว่าหากระบาดรอบ 2 การติดเชื้อและเสียชีวิตจะมากขนาดไหน 

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ระบุว่าวานนี้ (8 พ.ค.) ผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 3.8 ล้านคน เสียชีวิตอย่างน้อย 268,000 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่าต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะการตรวจหาเชื้อมีจำกัด วิธีการนับจำนวนผู้เสียชีวิตแตกต่างกัน แถมรัฐบาลบางประเทศยังปกปิดข้อมูล

นับจากนี้สิ่งที่ต้องระวังคือการระบาดรอบใหม่ ใน "อินเดีย" ที่ผ่อนคลายการล็อกดาวน์บางส่วนในสัปดาห์นี้ หน่วยงานสาธารณสุขพยายามสกัดการแพร่ระบาดที่ตลาดใหญ่แห่งหนึ่ง

นครนิวยอร์ก ในสหรัฐที่ระบาดหนักต้องปิดระบบรถไฟใต้ดินช่วงกลางคืนเพื่อฆ่าเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญใน "อิตาลี" ที่เพิ่งเริ่มผ่อนคลายข้อกำหนด เตือน ส.ส.ว่าการติดเชื้อและเสียชีวิตระลอกใหม่กำลังมา จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องเพิ่มความพยายามระบุตัวผู้ติดเชื้อ ตรวจตราอาการ และตามรอยโรคว่าคนเหล่านั้นพบปะใครมาบ้าง

ผู้เชี่ยวชาญ "เยอรมนี" เตือนถึงการระบาดรอบ 2 หรือเผลอๆ อาจมีรอบ 3 ถ้าสกัดไม่ได้อาจบั่นทอนการผ่อนคลายข้อบังคับ

“จะมีการระบาดระลอก 2 แต่ปัญหาคือขอบเขตจะขยายไปขนาดไหน เป็นระลอกเล็กหรือระลอกใหญ่ ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอก” โอลิเวียร์ ชวาร์ตซ หัวหน้าแผนกไวรัสและภูมิคุ้มกัน สถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศสกล่าว ซึ่งฝรั่งเศสร่างแผนสกัดไว้แล้วเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดระลอก 2 ไว้แล้ว

ขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศยังสาละวนอยู่กับระลอกแรก บราซิลปิดเมืองเอกของรัฐมารันเยา ในทวีปแอฟริกาจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำนักข่าวเอพีวิเคราะห์ว่า ขณะที่อัตราการติดเชื้อของสหรัฐบริเวณนอกนิวยอร์กซิตีกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่นอกเมือง ความคืบหน้าในการลดไวรัสของนิวยอร์กกำลังถูกบดบังด้วยการติดเชื้อในพื้นที่อื่นเพิ่มสูงขึ้น

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่ต้องลงเลือกตั้งใหม่ในเดือน พ.ย. กำลังผลักดันอย่างหนักให้รัฐผ่อนคลายคำสั่งกักตัวอยู่บ้านและเปิดเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง หลังจากแรงงานตกงานกว่า 30 ล้านคนในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน แต่มีความกังวลกันมากว่าหากสหรัฐเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งรัฐต่างๆ อาจดูแลได้ไม่มากพอ

กรณีสหรัฐเคยมีบทเรียนมาแล้วเมื่อ 100 ปีก่อน ตอนที่ไข้หวัดสเปนระบาดระลอก 2 คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าระลอกแรก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการอนุญาตให้ประชาชนรวมตัวกันตั้งแต่ฟิลาเดลเฟียไปจนถึงซานฟรานซิสโก

"อิตาลี" ที่ผ่อนคลายล็อกดาวน์ในสัปดาห์นี้ นพ.ซิลวิโอ บรูซาเฟอร์โร ประธานสถาบันสุขภาพชั้นนำ ขอให้ลงทุนทรัพยากรก้อนใหญ่ฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์เพื่อจับตาแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยให้เหตุผลว่าแอพพลิเคชั่นติดตามโรค ที่หลายสิบประเทศและบริษัทกำลังจัดทำขึ้น ยังไม่เพียงพอจัดการการติดเชื้อระลอกถัดๆ ไป

ด้าน นพ.จิโอวานนี เรซซา หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อของสถาบันเดียวกันระบุ “เรายังอยู่กับการแพร่ระบาด ยังไม่จบ ผมไม่อยากให้ผู้คนคิดว่าไม่มีความเสี่ยงแล้ว เรากลับไปใช้ชีวิตปกติได้”

ในเยอรมนีทางการอาจออกคำสั่งควบคุมอีกครั้ง ถ้าเขตใดมีผู้ติดเชื้อใหม่ 50 คนต่อประชากร 1 แสนคนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

โลธาร์ วีเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคเยอรมนี กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นมากว่าต้องมีการติดเชื้อระลอก 2 แน่ แต่เยอรมนีเตรียมตัวรับมืออย่างดี ประเทศนี้ได้รับการชมเชยเรื่องการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง ยอดผู้เสียชีวิตในเยอรมนีคิดเป็น 1 ใน 4 ของอิตาลีหรืออังกฤษ ที่มีประชากรน้อยกว่า

ส่วน "อังกฤษ" เพิ่งเริ่มรับคน 1.8 หมื่นคนทำหน้าที่ตามรอยโรคของผู้ติดเชื้อ ทางการอังกฤษรู้ดีว่าพวกเขาควรตรวจหาเชื้อให้มากและตามรอยโรคให้เร็วกว่านี้ และอาจเรียนรู้จากเกาหลีใต้ ที่รุกตรวจ ตามรอยโรค แล้วรีบแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาจึงควบคุมการระบาดเอาไว้ได้

"แอฟริกาใต้" ที่มีประสบการณ์นานหลายปีในการตามรอยการติดเชื้อเอชไอวีและอื่นๆ มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้มากประสบการณ์ถึงกว่า 3 หมื่นคน

"ตุรกี" มีทีมตามรอยโรค 5,800 ทีม คอยติดตามและตรวจสอบประชาชนเกือบ 5 แสนคน

"อินเดีย" มุ่งเน้นตรวจสอบการติดเชื้ออย่างรวดเร็วรอบตลาดแห่งหนึ่งในเมืองเชนไน ที่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อจากที่นี่อย่างน้อย 1,000 คน พร้อมๆ กับการติดตามและกักกันประชาชนอีก 7,000 คน ที่เคยไปตลาดโคยัมเบดูที่ตอนนี้ปิดไปแล้ว การต้องเฝ้าระวังกันอย่างหนักเพราะผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าหากเกิดภัยพิบัติทางสาธารณสุขขึ้นในอินเดียที่มีประชากร 1,300 ล้านคน จะยิ่งทำให้ระบบสาธารณสุขที่ไม่เพียงพออยู่แล้วต้องรับศึกหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่ "อิสราเอล" สำนักงานฉุกเฉินแห่งชาติก็หวั่นว่าจะเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอก 2 เช่นกัน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบนิ่งในขณะนี้ เตรียมความพร้อมให้กับโรงพยาบาล เพิ่มทั้งเครื่องช่วยหายใจและขีดความสามารถในการรักษา

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ทางการเตรียมโมเดลคาดการณ์การติดเชื้อระลอก 2 ที่จะเกิดขึ้นราวปีใหม่ยิว ปีนี้อยู่ในช่วงกลางเดือน ก.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็นอย่างน้อยทะลุหลักหลายหมื่นคน ต้องเข้าโรงพยาบาลกันหลายพันคน เสียชีวิตระดับหลายร้อยคนไปจนถึงหลักพันต้นๆ

ที่ตะวันออกกลาง หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมแล้วเช่นกัน ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการอีกครั้ง การตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลจากเดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอน ประกอบกับความต้องการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

"อียิปต์" ประกาศเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ผ่อนคลายการควบคุมในเดือนรอมฎอนแม้ผู้ติดเชื้อเพิ่ม "อิหร่าน" ที่มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก เริ่มอนุญาตให้เดินทางข้ามเมืองและชอปปิงในห้างสรรพสินค้าได้แล้ว สัปดาห์นี้อิหร่านเปิดมัสยิดในเมืองที่มีความเสี่ยงต่ำ

ใน "สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ดูไบ" ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ 24 ชั่วโมง อนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารเปิดดำเนินการได้ 30% ร้านใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังจะถูกตักเตือนหรือสั่งปิดไปเลย ส่วนคำสั่งเคอร์ฟิวลดลงไป 2 ชั่วโมง

หลายๆ ประเทศก็เคลื่อนไหวคล้ายกันแม้ยังคงมาตรการอีกหลายอย่างเอาไว้ แต่ก็ปรับกฎให้ชาวมุสลิมละหมาดและละศีลอดนอกบ้านได้

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่า เดือนรอมฎอนจะส่งผลต่อการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาหรือไม่

“รอมฎอนตามธรรมเนียมแล้วเป็นเดือนที่ผู้คนมารวมตัวกัน อาจเป็นที่บ้าน ที่มัสยิด หรืองานเลี้ยงละศีลอดในโรงแรม ร้านอาหาร จึงขอแนะนำให้งดทุกอย่างที่เคยทำช่วงรอมฎอน ทำแค่ที่บ้านเท่านั้น” เซอโดมีร์ เนสตอร์วิก อาจารย์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และธุรกิจอิสลามจากวิทยาลัยธุรกิจอีเอสเอสอีซีให้ความเห็น

เขายอมรับว่าผู้คนส่วนใหญ่รับได้แต่อาจมีบางคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และการติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในหมู่คนที่รวมตัวกันละหมาดหรือละศีลอดร่วมกันหลังพระอาทิตย์ตก

เห็นได้ว่าทุกประเทศยังไม่ไว้วางใจว่าไวรัสโคโรนาจะไม่กลับมาระบาดอีก วิธีการที่หลายประเทศทำกันในตอนนี้จึงเน้นการตามรอยโรค เข้าทำนอง “กันไว้ดีกว่าแก้” เพราะประสบการณ์ในอดีตมีให้เห็นแล้วว่าหากโรคร้ายกลับมาระบาดซ้ำการเสียชีวิตมักสูงกว่ารอบแรก