หนักกว่านี้มีอีกไหม? 'โควิด' ฉุดนักท่องเที่ยวทั่วโลกหาย 80% ปีนี้

หนักกว่านี้มีอีกไหม? 'โควิด' ฉุดนักท่องเที่ยวทั่วโลกหาย 80% ปีนี้

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลก ที่ทำให้เกิดมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ ฉุดจำนวนนักท่องเที่ยวตามจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวต่างๆ หายไปด้วย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวร้างผู้คน ขาดรายได้ และทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตกงาน

องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานคาดการณ์ล่าสุดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 2563 จะลดลงอย่างมากระหว่าง 60-80% ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้

สถานการณ์นี้เป็นผลพวงจากการจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และการสั่งปิดสนามบินและพรมแดนเพื่อป้องกันการระบาดโรคของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวร่วงลงอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเริ่มจดบันทึกในปี 2493

รายงานชิ้นนี้ขององค์การการท่องเที่ยวโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ระบุว่า การเดินทางมาถึงของนักท่องเที่ยวตกลงไป 22% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี และราว 57% เฉพาะในเดือน มี.ค. โดยภูมิภาคเอเชียและยุโรปได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว

ซูราบ โพโลลิคาชวิลี เลขาธิการใหญ่องค์การการท่องเที่ยวโลก กล่าวว่า “โลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด และตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่งกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและเดินทาง ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มขึ้นในจีนช่วงปลายปี 2562 โดยเที่ยวบินเกือบทั้งหมดถูกยกเลิก แต่กลุ่มธุรกิจโรงแรม เรือสำราญ และผู้ให้บริการทัวร์ก็กำลังต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนี้

องค์การการท่องเที่ยวโลก เคยคาดการณ์ว่า ช่วงต้นปีนี้การท่องเที่ยวทั่วโลกจะขยายตัวประมาณ 3-4% แต่ในช่วงปลายเดือน มี.ค. ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ใหม่ โดยคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจดหดตัวลงประมาณ 20-30% พร้อมทั้งระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะลดลงไปมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางและการปิดพรมแดนว่าจะกินเวลายาวนานเท่าใด

การคาดการณ์ในกรณีที่ดีที่สุด หากการผ่อนคลายกฏระเบียบด้านการเดินทางเริ่มในช่วงต้นเดือน ก.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกอาจจะลดลงประมาณ 58%

ขณะที่การคาดการณ์ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากประเทศต่างๆ ยกเลิกการปิดพรมแดนในต้นเดือน ธ.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะหายไป 78% และถ้าประเทศต่างๆยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงต้นเดือน ก.ย. จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะหายไป 70%

ภายใต้การประมาณการเหล่านี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกอาจจะสูญเสียรายได้ระหว่าง 910,000 ล้านดอลลาร์-1.2 ล้านล้านดอลลาร์ และแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ต้องตกงานระหว่าง 100-120 ล้านคน

158895159513

หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของยูเอ็น ระบุด้วยว่า มีสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 แต่จะฟื้นเต็มที่ในปี 2564 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคแรกที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวก่อน และคาดว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวก่อนการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

ขณะที่เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นบีซี นำเสนอรายงานว่าเกาหลีใต้และฮ่องกงประสบความสำเร็จในการผ่อนคลายกฏระเบียบต่างๆโดยที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มผ่านการดำเนินการ 3 ด้านคือ 1.การแชร์ข้อมูล 2.ตรวจหาเชื้ออย่างมีเป้าหมาย และ 3.การตามรอยโรค ซึ่งจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ ที่ไทม์ไลน์การระบาดตามหลังประเทศในเอเชียได้เรียนรู้ โดยเฉพาะสหรัฐ

ทั้งนี้ การแชร์ข้อมูลถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น กรณีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นเอชซี) ได้รวบรวมแผนการวินิจฉัยและรักษา แผนป้องกันและควบคุม รวมถึงเอกสารทางเทคนิคใหม่ล่าสุด และแบ่งปันให้ 180 ประเทศทั่วโลก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและภูมิภาคมากกว่า 10 แห่งร่วมรับรู้ไปพร้อมๆ กันในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะที่การตรวจหาเชื้ออย่างมีเป้าหมายและการตามรอยโรคนั้น ประเทศต่างๆ สามารถเรียนรู้ได้จากเกาหลีใต้ ที่สามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ เพราะเรียนรู้จากความผิดพลาดกรณีรับมือโรคเมอร์สล่าช้าเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ครั้งนี้ เกาหลีใต้ยกระดับการป้องกันเข้าสู่ชั้นสูงสุดทันที เตรียมพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์เสริมศักยภาพโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโรคติดต่อรุนแรง พร้อมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกพัฒนาอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อที่จุดคัดกรองต่างๆฟรีสำหรับประชาชนจำนวนมากตั้งแต่ยังไม่ปรากฏอาการ

ความสำเร็จในการดำเนินมาตรการของ 2 ประเทศ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ความสำเร็จไม่ได้จำกัดแค่ในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม แต่ยังครอบคลุมถึงการชะลอของการแพร่ระบาด หรือ การหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ติดเชื้อ และท้ายที่สุดยังช่วยให้ควบคุมอัตราการเสียชีวิตของผู้คนได้ด้วย