เมื่อโควิด-19 ยังไม่ซา ความเชื่อมั่นจึงดิ่งเหว

เมื่อโควิด-19 ยังไม่ซา ความเชื่อมั่นจึงดิ่งเหว

แม้สถานการณ์โควิด-19 มีทิศทางที่เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ขณะที่รัฐบาลก็เริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ไปแล้วบางส่วน และกำลังจะเข้าสู่การผ่อนปรนเฟส 2 ในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายนกลับสวนทาง อยู่ในจุดต่ำสุดในประวัติการณ์

แม้ดูเหมือนสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จนภาครัฐเตรียมทบทวนการคลายล็อกดาวน์เฟส 2 ช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ยังมีอยู่ น้อยบ้าง เพิ่มขึ้นบ้าง จากปัจจัยต่างๆ ดังนั้นเราจึงยังไม่ควรให้การ์ดตก หากต้องคุมเข้มมาตรการกันต่อไป บางกิจการที่คลายล็อกดาวน์ไปแล้ว ก็ต้องไม่ชะล่าใจ ยังต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย และการรักษาระยะห่างอย่างต่อเนื่อง แนวคิดการจะผ่อนล็อกดาวน์เฟสสองกลางเดือนนี้ จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นและระวังกันให้ดี ต้องมองให้ทะลุทุกมิติที่จะไม่เปิดช่องโหว่ให้เจ้ามฤตยูโควิด-19 หวนกลับมาระบาดได้อีกรอบ

วิกฤติโควิดที่สร้างการสั่นสะเทือนไปทั่วโลก แน่นอนว่า เศรษฐกิจในไทยทุกอณู ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ขณะที่ประเทศไทยมีเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทางหลักการประกอบด้วย 4 ตัว คือ ส่งออก ลงทุนภาคเอกชน ลงทุนภาครัฐ และการบริโภคในประเทศ ซึ่งเครื่องยนต์ทุกตัวกระทบอย่างหนักหนาสาหัสหมด และล่าสุด ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือน เม.ย.จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า อยู่ที่ 47.2 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 7 เดือน หรือตั้งแต่เดือน ต.ค. 42  

ดัชนีนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไปและการจ้างงานในอนาคต ประกอบกับไทยไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาโควิดอย่างเดียว แต่มีเรื่องของภัยแล้งเข้ามาขย่มซ้ำภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอยู่ในระดับต่ำมาก คาดการณ์ว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายออกไปอย่างน้อย 3-6 เดือนจากนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19จะคลายตัวลงและเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง

ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังได้ประเมินการคลายล็อกดาวน์เฟส 2 ที่อาจอนุญาตให้มีการเปิดบางกิจกรรมขนาดใหญ่ เช่น ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านค้าภายในศูนย์การค้า อาจช่วยให้เกิดมูลค่าการใช้จ่ายและเงินหมุนเวียนในระดับเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 6,000-8,000 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อเดือน สร้างความคึกคักในระบบเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะจะช่วยเกิดการจ้างงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยในช่วงการระบาดโควิด-19 นั้น เม็ดเงินภาคการบริโภคหายไปวันละ 10,000 ล้านบาทหรือ 300,000 ล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว 

อันที่จริงการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ถ้าผู้ประกอบการ ผู้บริโภค มีวินัย มีสติ ในการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และให้คิดอยู่เสมอว่า โควิดยังไม่ได้จางหายไปไหน เราเชื่อว่า ถ้าทุกคน ทุกกลุ่มยังตั้งมั่นอยู่ในมาตรการที่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ภาครัฐมีแนวนโยบายที่ชัดเจน มีแผนรองรับฉุกเฉินในการแก้ปัญหา ผู้ประกอบการทั้งรายย่อย รายใหญ่ ก็จะได้โอกาสในการกลับมาสร้างกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างรายได้อีกครั้ง ผู้คนก็จะได้ดำเนินชีวิตปกติในแบบใหม่ ในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป และค่อยๆ ฟื้นความเชื่อมั่นในเครื่องยนต์ทั้งหมดกลับคืนมาอีกครั้ง