สหภาพการบินไทย ยื่นข้อเสนอยุบ 'ไทยสมายล์'

สหภาพการบินไทย ยื่นข้อเสนอยุบ 'ไทยสมายล์'

สหภาพการบินไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอส่งตัวแทนร่วมปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู ค้านการแยกหน่วยธุรกิจ พ้นสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ เสนอยุบไทยสมายล์ ลดต้นทุนซ้ำซ้อน

วานนี้ (8 พ.ค.) สหภาพการแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนต่อกรณีแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสากิจการบินไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณว่าแผนฟื้นฟูครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย สหภาพฯ จึงต้องออกมาแสดงจุดยืน ซึ่งสหภาพฯ เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูเพราะเป็นทางรอดทางเดียวของการบินไทย 

ทั้งนี้ หากจะให้การฟื้นฟูครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพจริง ในส่วนพนักงาน 20,000 คน ที่มีสหภาพฯ เป็นตัวแทน ขอให้สหภาพฯ มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนายกรัฐมนตรีและประชาชนว่าแผนฟื้นฟูครั้งนี้จะฟื้นฟูได้จริง เพราะแผนฟื้นฟูการบินไทยในปี 2558 เคยกู้เงินไปครังหนึ่งแล้วต้องกลับมากู้เงินใหม่อีก

“พนักงานในองค์กรทุกคนยินดีให้ความร่วมมือ ในอดีตมีการฟื้นฟู 3 ครั้งแต่พนักงานไม่เคยได้มีส่วนร่วมและไม่มีโอกาสได้รับรู้ ครั้งนี้ก็ขอบคุณนายกฯ ที่ให้โอกาสถามถึงพนักงานและสหภาพฯ หากอนุมัติแผนฟื้นฟูไป สหภาพฯและพนักงานไม่ให้ความร่วมมือแล้วจะเกิดได้อย่างไร จะเหมือนกับให้เงิน 50,000 ล้านบาทไปก็จบเหมือนเดิม”

รายงานข่าวระบุว่า สหภาพฯ ได้เสนอแผนปรับปรุงการบินไทย โดยไม่จำเป็นต้องแยก Business Unit โดยแนวทางที่เสนอจะให้ยุบสายการบินไทยสมายล์ ให้กับมาอยู่กับการบินไทย ซึ่งปัจจุบันการบินไทยถือหุ้น 100% ในไทยสมายล์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน เช่น กรรมการบริษัท ผู้บริหารบริษัท เพราะที่ผ่านมาจะเป็นผู้ที่เกษียณจากการบินไทยไปอยู่ที่ไทยสมายล์

รวมทั้งแบรนด์การบินไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลกจึงถือเป็นจุดแข็งของการบินไทย ซึ่งทำให้เห็นว่าไม่ควรแยกธุรกิจการบินพรีเมียมหรือต้นทุนต่ำ เพราะหากบริหารตั๋วโดยสารให้มีราคาถูกลงจากปัจจุบันจะทำให้มีผู้ต้องการโดยสารการบินไทยมากขึ้น

ต้องการให้การบินไทยขายหุ้นในบริษัทลูกที่การบินไทยไม่มีความเชี่ยวชาญออกไป รวมถึงการขายหุ้นสายการบินนกแอร์ที่ปัจจุบันการบินไทยถืออยู่ 13% ส่วนการลดค่าใช้จ่ายต้องการให้การบินไทยลดตำแหน่งผู้บริหารให้น้อยลง รวมถึงการซื้อเครื่องบินรุ่นเดียวกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง