เตือนก่อนล้มละลาย! แนะ 'การบินไทย' จัดการเด็ดขาด 'ไทยสมายล์' และ 'นกแอร์'

เตือนก่อนล้มละลาย! แนะ 'การบินไทย' จัดการเด็ดขาด 'ไทยสมายล์' และ 'นกแอร์'

"ดร.สามารถ" เตือนก่อนล้มละลาย! แนะ "การบินไทย" จัดการเด็ดขาด "ไทยสมายล์" และ "นกแอร์" หลังหนี้สะสมสูงถึง 244,899 ล้านบาท

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊ค (8 พ.ค.) ระบุว่า ส่อง “เจ้าจำปี” สแกนหนี้ที่ต้องเฉือน!
ใครที่ได้ส่องดูผลประกอบการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. ก็จะต้องเป็นห่วงสถานะทางการเงินของ บกท. อย่างยิ่ง เพราะมีหนี้สะสมสูงถึง 244,899 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี จนถึงปีที่แล้ว (2562) บกท.ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางลดการขาดทุนลงให้ได้

ผลการดำเนินงานขาดทุนของ บกท.นั้น เกิดจากการดำเนินงานของ บกท.เอง และบริษัทอื่นหรือบริษัทย่อยที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ เฉพาะบริษัทที่ บกท. ถือหุ้นเกิน 10% มีถึง 10 บริษัท เช่น บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด (บริหารจัดการเรื่องบุคลากรให้ บกท.) และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

เมื่อดูผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวที่ บกท. ถือหุ้นอยู่ ปรากฏว่าไทยสมายล์ซึ่ง บกท. ถือหุ้นทั้งหมด 100% ขาดทุนมากที่สุด โดยในปี 2561 ไทยสมายล์ขาดทุนถึง 2,602 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องมาทุกปีตั้งแต่จัดตั้งมาในปี 2555 ถึงเวลานี้ไทยสมายล์ขาดทุนสะสมรวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ บกท.จะต้องทุบโต๊ะหาทางจัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ให้ได้

บกท.จัดตั้งไทยสมายล์ขึ้นมาโดยมุ่งหวังที่จะให้บริการกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายการบินปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers หรือ LCC) จึงได้จัดวางตำแหน่งตนเองเป็น “พรีเมี่ยมโลว์คอสต์” (Premium Low Cost) หรือสายการบินต้นทุนต่ำที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ไทยสมายล์จึงต้องให้บริการเหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ เช่น ให้บริการอาหารว่างและน้ำบนเครื่องฟรี ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำผู้โดยสารต้องซื้อ และให้บริการโหลดสัมภาระใต้เครื่องฟรีไม่เกิน 20 กิโลกรัม ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำคิดค่าโหลด เป็นต้น

การให้บริการที่สูงกว่าเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของไทยสมายล์สูงตามขึ้นด้วย เพราะ “คุณภาพเป็นตัวกำหนดราคา” ดังนั้น ถ้าต้องการให้ไทยสมายล์สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ค่าโดยสารจะต้องสูงกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการอยู่จำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ส่งผลให้ไทยสมายล์จำเป็นต้องกัดฟันสู้ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับสายการบินต้นทุนต่ำได้ ดังจะเห็นได้ว่า มีหลายโอกาสที่ค่าโดยสารของไทยสมายล์ถูกกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม สู้ไปสู้มา สุดท้ายกลับขาดทุนป่นปี้ทุกปี ไม่ว่าจะเพิ่มเส้นทางแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ตอนแรกไทยสมายล์ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ตอนหลังได้เพิ่มเส้นทางไปสู่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ก็ยังสู้ไม่ได้ สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อนมีโควิด-19 ครั้นจะหันหน้าไปพึ่งบริษัทแม่หรือ บกท.ซึ่งถือหุ้น 100% ให้หาเงินมาโปะ ก็ไม่มีทางเพราะ บกท.ก็ขาดทุนบักโกรกอยู่แล้ว อุ้มลูกไม่ไหวแน่

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอให้ บกท.พิจารณาดำเนินการต่อไทยสมายล์ ดังนี้

1. ยุบไทยสมายล์
หาก บกท.เห็นว่า ไม่มีทางพลิกฟื้นให้ไทยสมายล์กลับมามีกำไรได้ และหากเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องอาศัยไทยสมายล์ช่วยขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย หรือรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทยในลักษณะ Feeder เพื่อขนผู้โดยสารไปสู่จุดหมายปลายทางต่อไป บกท.ก็ควรพิจารณายุบไทยสมายล์ทิ้งไป จะทำให้ช่วย บกท.ลดการขาดทุนได้ถึงปีละประมาณ 20% สัดส่วนที่ลดลงมากขนาดนี้ จะทำให้ บกท.ตัวเบาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

2. ควบรวมไทยสมายล์กับ บกท.
ในกรณีที่ บกท. เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเส้นทางของไทยสมายล์ไว้ เพื่อให้ขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย และรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทย ก็ควรพิจารณาควบรวมกิจการของไทยสมายล์เข้ากับ บกท. เป็นบริษัทเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าบริหารจัดการถูกกว่าแยกเป็น 2 บริษัท ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2531 เคยมีการควบรวมกิจการของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) เข้ากับการบินไทย เนื่องจาก บดท.ที่ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการขาดทุน ในขณะที่การบินไทยให้บริการเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการได้กำไร หลังจากควบรวมกิจการแล้ว ปรากฏว่าการบินไทยสามารถทำให้มีกำไรได้ทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ บกท.ควรพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดทุนในบริษัทย่อยอื่นที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ด้วย เช่น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน บกท.ถือหุ้นอยู่ 13.28% สัดส่วนน้อยขนาดนี้ทำให้ บกท.ไม่มีอำนาจควบคุม ทั้งนี้ สัดส่วนนี้ลดลงจากเดิม 39% เนื่องจาก บกท.ไม่ยอมเพิ่มทุนตามที่มีการเพิ่มทุนเป็นระยะๆ นกแอร์มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปีเช่นเดียวกัน ในปีที่แล้ว (2562) ขาดทุน 2,051 ล้านบาท หาก บกท.เห็นว่านกแอร์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ บกท. ก็ควรขายหุ้นที่ถืออยู่ทิ้งไปทั้งหมด

ถ้า บกท.ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ และนกแอร์ รวมทั้งบริษัทย่อยอื่น เห็นทีจะหนีไม่พ้นที่ บกท. จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาดเสียเอง นั่นก็คือ บกท.จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีเสียงแอบกระซิบมาว่าได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท.ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็วๆ นี้ เป็นแนวทางที่ 10 หรือแนวทางสุดท้าย จากทั้งหมด 10 แนวทาง หาก บกท.ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางในแผนฟื้นฟูได้ประสบผลสำเร็จ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี และ “รัก บกท.เท่าฟ้า” ครับ