“โลจิสติกส์”แสนล้านดิ่งหนัก  เจดับเบิ้ลยูดีพลิกแผนฝ่าโควิด

“โลจิสติกส์”แสนล้านดิ่งหนัก   เจดับเบิ้ลยูดีพลิกแผนฝ่าโควิด

เจดับเบิ้ลยูดี เผยพิษโควิดกระเทือธุรกิจโลจิสติกส์แสนล้าน หดตัวแรง 30-40% กลุ่มยานยนต์หยุดผลิต ฉุดรายได้ พลิกแผนหันขยายธุรกิจขนส่งพัสดุดิลิเวอรี่ รับดีมานด์โตพุ่ง เบนเข็มลูกค้ารายใหญ่ เจาะลูกค้า B2C

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก รวมถึงโลจิสติกส์ เนื่องจากการขนส่งทั้งทางบกทั้งในประเทศ และขนส่งข้ามแดนมีความล่าช้า จากการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ ส่วนขนส่งทางอากาศธุรกิจการบินไม่สามารถทำการบินได้เลยจึงทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบด้านรายได้เกือบเป็นศูนย์ ขณะที่การขนส่งทางเรือได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ยังมีการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกอยู่บ้าง

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2563 แนวโน้มจะหดตัวลงมากถึง 30-40% ขณะที่การขนส่งหลายประเภทอยู่ในภาวะหดตัว แต่การขนส่งพัสดุ การขนส่งสินค้าถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ต่างๆ กลับมีการเติบโตสูงมาก สวนกระแสตลาดโดยรวม เนื่องห้างร้านปิดให้บริการ และการที่ประชาชนอยู่บ้าน ทำให้ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและบริการส่งตรงถึงบ้าน

ธุรกิจโลจิสติกส์มีมูลค่าหลักแสนล้าน ปีนี้จะหดตัวลง 30-40%จากปีก่อนตลาดเติบโตน้อยอยู่แล้ว เพราะเผชิญสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ พอมาปี 2563 เจอทั้งสถานการณ์โรคโควิดระบาด เศรษฐกิจหรือจีดีพีติดลบค่อนข้างมากโดยรัฐประเมินลบ 5.3% แต่อาจถึงลบ 8% จะกระทบภาพรวมขนส่งมากขึ้น

ส่วนแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ของบริษัทในช่วงวิกฤติโรคระบาด ได้นำแผนปฏิบัติงานต่อเนื่องมาใช้ โดยแบ่งทีมเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันกรณีมีพนักงานติดโรคโควิด อีกทีมจะได้ทำงานแทนได้ รวมถึงคลังสินค้าทำเลต่างๆ ทั้งสุวินทวงศ์ แหลมฉบัง จะแยกทีมงานไม่ให้ข้ามพื้นที่เด็ดขาด

ขณะเดียวกัน บริษัทมุ่งบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ในห้วงที่รายได้เข้ามาน้อย โดยยุติการจ้างงานภายนอกหรือเอาท์ซอสราว 400 คน เน้นใช้บุคลากรภายในองค์กรราว 1,600 คน ทำงานให้เต็มศักยภาพ แนวทางดังกล่าวช่วยลดต้นทุนโดยรวม 7-10 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทปรับตัวหันมาขยายธุรกิจขนส่งพัสดุ ดิลิเวอรี่รับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างมาก หลายค่ายขนส่งสินค้าไม่ทัน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวช่วยกระจายความเสี่ยง และขยายฐานสู่กลุ่มเป้าหมายลูกค้ารายย่อย(B2C) จากปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจ(B2B)สัดส่วน 90% ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะบริษัทให้บริการรับฝาก และบริหารสินค้าพื้นที่ทั่วไป และพื้นที่เขตปลอดภาษี

ขณะที่ธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าในประเทศ กลุ่มลูกค้ายานยนต์ไม่สามารถเดินสายการผลิต และเลื่อนการผลิตออกไป ส่วนการส่งออกทางเรือลดลง เพราะตู้สินค้า วัตถุดิบต่างๆมีปริมาณคงค้างมาก เนื่องจากการขนส่งจากจีนยังทำได้ไม่มาก

ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ของบริษัทท่ามกลางวิกฤติโควิด แยกตามลูกค้าเป็นรายอุตสาหกรรม กลุ่มยานยนต์กระทบพอสมควร เพราะโรงงานปิดสายการผลิต และเรามีลูกค้าจากหลายแบรนด์ ทำให้การบริการพื้นที่ต่างๆต้องหยุด ส่วนธุรกิจห้องเย็นยังไปได้ดี เพราะลูกค้าผลิตสินค้า ส่งออกไม่ได้ ต้องหาพื้นที่จัดเก็บสินค้า บริษัทจึงรับผลพลอยได้ และเราได้ปรับตัวไปให้บริการส่งสินค้าเจาะ B2C ด้วย

ทั้งนี้ หากการระบาดโรคโควิดผ่อนคลายในไตรมาส 2 คาดว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3-4 และผลกระทบต่อยอดขายและกำไรของบริษัทอาจหดตัวลง 20% แต่โรคโควิดยังยืดเยื้อถึงไตรมาส 3-4 การฟื้นตัวอาจจะเห็นต้นปีหน้า ส่วนการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมองว่าฟื้นตัวกลับมาล่าช้า

นายชวนินทร์ กล่าวอีกว่า วิกฤติโควิดได้สร้างบาดแผลให้กับธุรกิจและคนทั่วโลก เพราะไม่มีใครรอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ บทเรียนครั้งนี้ทำให้ฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยงต้องนำโรคระบาดมาบรรจุในแผนงานเพื่อหาแนวทางป้องกันและรับมือในอนาคต

ทั้งนี้ ทุกวิกฤติมีโอกาส การอยู่รอดได้ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจการทำธุรกิจมีเพียงเสาหลักเดียวไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเผชิญความเสี่ยงมหาศาล ต้องขยายธุรกิจให้มีความหลากหลาย มองธุรกิจที่มีความต้องการ โอกาสสร้างการเติบโตได้ เน้นสร้างกระแสเงินสด ลดต้นทุน เจรจาเจ้าหน้าที่ทางการเงินเพื่อพักชำระเงินต้น

ความท้าทายการทำธุรกิจปีนี้ คือระยะเวลาในการฟื้นตัว การจับจ่ายของผู้บริโภคกว่าจะกลับมาอาจนาน ยิ่งบริษัทมีลูกค้ารถยนต์ ดีมานด์ฟื้นตัวยาก ต้องรอถึงปีหน้า แต่จังหวะนี้เราจะไดเวอร์ซิไฟท์จับลูกค้า B2C เพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 30% เพราะมองว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าตลาดยังโตได้ ส่วนกลุ่มลูกค้า B2B บริษัทมองการเติบโตในอัตรา 2 หลัก เป็นไปได้ยาก เนื่องจากตลาดเริ่มอิ่มตัวนายชวนินทร์ กล่าว