เปิดสาเหตุเบื้องต้นผล 40 ราย จ.ยะลา 'แล็บโควิด-19' ไม่ตรงกัน

เปิดสาเหตุเบื้องต้นผล 40 ราย จ.ยะลา 'แล็บโควิด-19' ไม่ตรงกัน

กรมวิทย์ยันแล็บตรวจโควิด-19รพ.ศูนย์ยะลาได้มาตรฐาน เบื้องต้นพบ“ตัวเปรียบเทียบ”ผลเพี้ยน เป็นน้ำเปล่าแต่ตรวจเจอผลบวก ส่งผู้เชี่ยวชายเร่งตรวจสอบหาสาเหตุละเอียด ย้ำผลแล็บคลาดเคลี่อนเกิดได้เสมอ จาก 3 ส่วน มนุษย์-เครื่องมือ-ระบบ คาดผลตรวจ40คนรอบ3 ออ 6 พ.ค.

จากกรณีที่จ.ยะลามีการค้นหาผู้ติดโควิด-19เชิงรุกในชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง และมีการรายงานผลจากห้องปฏิบัติการ(แล็บ) รพ.ยะลาพบผลเป็นบวกคือติดเชื้อ 40 ราย คิดเป็นอัตราการเจอเชื้อ 30 % ซึ่งมากกว่าอัตราเจอเชื้อจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกโดยทั่วไปที่อยู่ที่ 5 % ส่งผลให้ต้องมีการส่งตัวอย่างตรวจเชื่อซ้ำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จ.สงขลา ผลปรากฏเป็นลบทั้งหมดคือไม่ติดเชื้อ จึงต้องมีการตรวจตัวอย่างยืนยันเป็นครั้งที่ 3 โดยส่งตัวอย่างมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กรุงเทพฯ


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อวไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจ.ยะลาเป็นการเก็บตัวอย่างด้วยวิธีการป้ายสารคัดหลั่งหรือ Swab และตรวจในห้องแล็บด้วยวิธีการหาสารพันธุกรรมของเชื้อ หรือRT PCR ซึ่งการตรวจด้วยวิธีการนี้ในห้องแล็บจะต้องมีตัวควบคุมหรือตัวเปรียบเทียบ 2 ตัวคู่กันเสมอ คือ 1.Positive Control ที่จะต้องให้ผลเป็นบวกเสมอ และ2.Negative Control ที่จะต้องให้ผลเป็นลบเสมอ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นน้ำเปล่าที่จะไม่ตรวจเจอเชื้อเลย


กรณีห้องแล็บรพ.ศูนย์ยะลาเป็นการทำตามมาตรฐานนั้น พบว่า ตัวเปรียบเทียบที่เป็นลบ หรือ Negative Control ที่เป็นน้ำเปล่านั้น ตรวจเจอเชื้อและแสดงผลเป็นบวก แสดงว่าจะต้องมีเหตุความผิดปกติเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บจึงหยุดตรวจและรายงานจังหวัดให้ทราบและตรวจสอบหาสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ห้องแล็บสามารถเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นได้เสมอ ซึ่งอาจจะเกิดจาก 3 ส่วน คือมนุษย์ เครื่องมือ หรือระบบ ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว จะต้องรผลอย่างละเอียดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงต่อไป


“ยืนยันว่าแล็บรพ.ศูนย์ยะลาได้มาตรฐานตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง และกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้เสมอในห้องแล็บ แต่ตามมาตรฐานเมื่อห้องแล็บตรวจเจอลักษณะเช่นนี้คือตัวเปรียบเทียบที่เป็นบวกไม่แสดงผลบวกและตัวเปรียบเทียบที่เป็นลบไม่แสดงผลลบจะต้องหยุดการตรวจทั้งหมด เพราะผลที่เกิดขึ้นจะเชื่อถือไม่ได้ และห้องแล็บจะไม่รายงานผลเด็ดขาด จะต้องดำเนินการตรวจซ้ำเท่านั้น ส่วนการตรวจซ้ำ 40 รายเป็นครั้งที่ 3 ที่กรมนั้น คาดว่าผลจะออกราววันที่ 6 พ.ค.นี้ แต่ไม่ได้ส่งผลใดๆต่อการสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่แต่อย่างใด เพราะทางปฏิบัติเมื่อมีการสงสัยว่าผลจะเป็นบวก การควบคุมโรคสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งพื้นที่มีการเรื่องการควบคุมโรคแล้ว”นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในช่วงแรกของการตรวจเชื้อนี้ในประเทศไทยมีเพียง 2 ห้องแล็บที่ตรวจยืนยันเชื้อได้ คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งระยะต้นก็เจอกรณีที่รายงานผลไม่ตรงกัน ก็จะต้องนำตัวอย่างมาตรวจซ้ำหรือหาอีกห้องแล็บมาตรวจ เพื่อยืนยันผลอีกครั้งก็เป็นเรื่องปกติ และยืนยันว่าการตรวจแล็บของประเทศไทยมีมาตรฐาน โดยมีห้องแล็บที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผ่านเกณฑ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว 151 แห่ง เป็นภาครัฐ 105 แห่ง และเอกชน 46 แห่ง โดยจะต้องผ่านเกณฑ์ห้องแล็บใน 4 ข้อสำคัญ คือ 1.มีนักเทคนิคการแพทย์ หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทยืที่มีความรู้ความเข้าใจวิธีการตรวจRT PCR 2.มีเครื่องมือตรวจRT PCRและความปลอดภัยไบโอเซฟตี้ 3. ผู้ตรวจผ่านการทดสอบความชำนาญ และ4.ระบบควบคุมคุรภาพมาตรฐาน โดยมีการตรวจไปแล้วกว่า 227,860 ตัวอย่าง เฉพาะในช่วงสัปดาห์ล่าสุดมีการตรวจ 6,000 ตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนถึง 2 เท่า