ตำรวจ 'ตม.' สงขลา ติด 'โควิด-19' 5 ราย ต่างด้าวติดเชื้อพุ่ง 60 ราย

ตำรวจ 'ตม.' สงขลา ติด 'โควิด-19' 5 ราย ต่างด้าวติดเชื้อพุ่ง 60 ราย

ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ "ตม." สงขลา ติดเชื้อ "โควิด-19" จากการสัมผัสกับผู้ต้องจำนวน 5 ราย ส่วนผู้ต้องกักที่ติดเชื้อจากเดิม 42 ราย ขณะนี้พบติดเชื้อเพิ่มรวมเป็น 60 ราย

วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พลตำรวจโทสมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) เปิดเผยถึงกรณีพบมีชาวต่างด้าวที่ถูกกักตัวที่ศูนย์กักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 18 คน จากเดิมที่เคยตรวจพบติดเชื้อ 42 คน ว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ ตม. ที่ผ่านมาได้เข้าไปสัมผัสผู้ต้องกักที่มีการติดเชื้อ 5 ราย และเจ้าหน้าที่ ตม. ที่สุวรรณภูมิช่วงแรกอีก 1 ราย รวมแล้วมีเจ้าหน้าที่ตม.ติดเชื้อทั้งหมด 6 ราย ส่วนผู้ต้องกักติดเชื้อช่วงแรก 42 ราย ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ผมเข้าไปดูแล

โดยร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทีมงานแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ต้องกักที่เหลือ 28 คน บริเวณชั้น 2 ซึ่งแยกส่วนกันคนละชั้นกับผู้ต้องกักที่ติดเชื้อชุดแรกปรากฎพบว่ามีผู้ต้องกักติดเชื้อเพิ่มอีก 18 คน เป็นชาย 1 คนและเป็นหญิงอีก 17 คน สรุปมีผู้ต้องกักที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามของห้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาติดเชื้อทั้งหมด 60 ราย ทั้งนี้ต้องขอบคุณทางทีมงานแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์มาอยู่ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตม.ที่โรงพยาบาลสนาม ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลบุคคลเหล่านี้เป็นหลัก ตามสิทธิมนุษยธรรม ตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับผู้ต้องกักติดเชื้อรวม 60 คน ส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาล 6 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลภาคสนาม 54 คน ซึ่งผู้ต้องกักดังกล่าวอยู่ในอาคาร 1 หลังจากนี้จะปฏิบัติการเชิงรุกตรวจหาเชื้อผู้ต้องกักในอาคาร 2 ต่อไป เบื้องต้นทราบว่า ทุกคนยังแข็งแรงดี ไม่มีอาการป่วย ทั้งนี้เนื่องจากประเทศต้นทางปิดด่านพรมแดน ปฏิเสธรับผู้ต้องกัก ทำให้ทางการไทยต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็ได้กำชับให้เร่งประสานประเทศต้นทางเพื่อรับกลับ หากด่านพรมแดนเปิด ก็พร้อมผลักดันออกนอกประเทศทันที

ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยอีกว่า สำหรับการดูแลผู้ต้องกักตามห้องกักต่างๆ ทั่วประเทศ 18 แห่ง จะถูกคัดแยกออกมา เพื่อทำการกักตัว 14 วันก่อน และขอความร่วมมือผ่านล่ามภาษาให้ผู้ต้องกักรักษาความสะอาด ดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ส่วนมาตรการดูแลผู้ต้องกัก ให้เจ้าหน้าที่ชุดเดิมดำเนินการดูแลผู้ต้องกัก โดยจัดชุด PPE เพื่อป้องกัน พร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่ไม่ให้พบปะบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน

รวมถึงเข้มงวดผู้ที่จะเข้าไปยังพื้นที่กักตัว เช่น ผู้ส่งอาหาร จะต้องทำการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปในพื้นที่ การทำงานของเจ้าหน้าที่จะใช้ชุดเดิมเพื่อจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงและทำประกันชีวิตให้ พร้อมจะสร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยจะพิจารณากรณีพิเศษในการแต่งตั้งเลื่อนขั้นครั้งต่อไป เนื่องจากเป็นผู้เสียสละ

สำหรับผู้ต้องกักที่ถูกกักอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพลูขณะนี้มีอยู่ 700 คน ก็ได้ดูแลตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัดแต่มีมาตรการรักษาความสะอาดทั้งผู้ต้องกัก และอาหาร รวมทั้งไม่ให้บุคคลแปลกหน้าเข้าไปภายใน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

นอกจากนี้ พลตำรวจโทสมพงษ์ ยังเปิดเผยอีกว่า ส่วนกรณีผู้ต้องกักสัญชาติเมียนมาที่หลบหนีออกจากรถยนต์คุมขังจำนวน 13 คนเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังพ้นโทษออกจากเรือนจำจังหวัดตาก และระหว่างนำส่งผลักดันที่ด่านพรมแดนถาวรแม่สอด แต่ไม่สามารถส่งกลับได้เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศปิดด่านพรมแดน ซึ่งขณะนี้สามารถติดตามจับกุมกลับมาได้แล้ว 12 ราย แบ่งเป็นในประเทศไทย 11 ราย และทางการเมียนมาแจ้งว่าจับกุมได้แล้ว 1 ราย เหลืออีก 1 รายที่ยังหลบหนี แต่ยืนยันว่าผู้ต้องกักที่หลบหนีทั้งหมดไม่มีใครติดเชื้อ เพราะกักตัวไว้เกิน 14 วันแล้ว

ขณะที่สาเหตุเบื้องต้น ทราบว่าอาจจะเกิดจากความเครียด บางรายต้องการกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่กำลังป่วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินคดีฐานหลบหนี

พลตำรวจโทสมพงษ์ กล่าวว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีมาตรการผลักดันชาวต่างด้าวกลับประเทศต้นทางอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีผู้ต้องกักที่กำลังรอการผลักดันออกนอกประเทศอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่ประเทศต้นทางยังไม่เปิดประเทศรับ ทำให้ไทยต้องกักตัวไว้ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหยุดส่งตัวกลับเข้าประเทศ หากแต่ละประเทศเปิดประเทศเมื่อไรก็จะส่งตัวกลับทันที