บอร์ดกสศ.อนุมัติช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กว่า 7.5 แสน

บอร์ดกสศ.อนุมัติช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กว่า 7.5 แสน

บอร์ด กสศ. อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเด็ก เยาวชน แรงงานด้อยโอกาส กว่า 7.5 แสนคน ดร.ประสาร ระบุ ภาวะโภชนาการคือปัญหาจำเป็นเร่งด่วนของเด็กยากจน เมื่อต้องปิดเทอมนานขึ้น พร้อมเพิ่มเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นค่าอาหาร ค่าครองชีพ ให้นร.ยากจนพิเศษ 300 ล้านบาท

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 3/2563 ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 2,049 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายในช่วงวิกฤตโควิด-19

โดยแบ่งเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค จำนวน 1,449 ล้านบาท และพัฒนาโครงการให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและกว้างขวางขึ้น จำนวน 550 ล้านบาท มาตรการเหล่านี้จะช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายราว 7.5 แสนคน

แบ่งเป็น เด็กนักเรียนในระบบ 7 แสนคน เด็กนอกระบบ 35,000 คน แรงงานด้อยโอกาส 10,000 คน เน้นช่วยเหลือทั้งระยะยาว และระยะสั้นที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเป็นวิกฤต โดยเฉพาะผลกระทบจากการปิดเทอมที่ยาวนาน ทำให้เด็กยากจนประสบปัญหาโภชนาการขาดแคลนอาหาร

158832932773

เรื่องนี้กสศ.ได้ระดมความคิดจากหลายภาคส่วน ทั้งการประชุมกับผู้บริหารสพฐ. ผู้บริหารสถานศึกษา และการสำรวจทางโทรศัพท์ (Telephone survey) ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ผู้ปกครอง นักเรียน ครู ผู้อำนวยการ จำนวน 12,460 คน เกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ พบว่าผู้ปกครองของนักเรียนได้รับผลกระทบจาก วิกฤติโควิด-19 ทำให้ รายได้ลดลง ต้องแบกรับภาระอื่นๆ ถูกพักงานชั่วคราว และถูกเลิกจ้าง/ตกงาน

โดย 3 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งช่วยเหลือคือ อาหาร ค่าครองชีพและค่าของใช้จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องนี้ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้จัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าอาหารและค่าครองชีพให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ ระดับชั้นป.1–6 จำนวน 500,000 คน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ตชด ทั่วประเทศและอปท.จำนวน 300 ล้านบาท โดยจัดสรรให้คนละ 600 บาท ตั้งแต่วันที่18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

“กสศ.ยังได้ประชุมระดมสมองร่วมกับองค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ เพื่อนำประสบการณ์จากนานาชาติที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเรียนที่ยาวนาน มาพัฒนาวิธีการช่วยเหลือนักเรียนในครอบครัวยากจนพิเศษซึ่งปัญหาด้านโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร นม และน้ำสะอาด เป็นเรื่องที่ต้องเร่งช่วยเหลืออันดับแรก"ดร.ประสาร กล่าว

สำหรับเด็กด้อยโอกาส การได้ไปโรงเรียนไม่ได้หมายถึงการได้ไปเรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสในการได้ไปรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย การที่เด็กต้องออกจากโรงเรียน ทำให้ขาดการเข้าถึงอาหารที่จำเป็น เราไม่สามารถรอให้โรงเรียนเปิดเทอมก่อนจึงเข้าไปดูแลได้ กสศ.จึงต้องมีแนวทางในการช่วยเหลือเด็กในเรื่องของอาหารให้เพียงพอเป็นความสำคัญในระดับต้นๆ

158832935711

ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมความยากจน ผลกระทบต่อมาอาจทำให้เด็กยากจนพิเศษมีโอกาสหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น โดยข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษารายงานว่า นักเรียนกลุ่มนี้มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยระหว่าง 279 - 1,254 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ ในส่วนของค่าครองชีพ ค่าเดินทางในการมาเรียน เป็นหลักประกันเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ

คณะกรรมการบริหารกสศ.จึง อนุมัติให้เลื่อนการจ่ายเงินทุนเสมอภาคให้เร็วยิ่งขึ้น และปรับสัดส่วนการจ่ายเงินในช่วงเปิดเทอม เป็นร้อยละ75 หรือ 2,000 บาท ในเทอม1จากเดิมร้อยละ 50 พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายการช่วยเหลือในระดับชั้นอนุบาลของสังกัด สพฐ.และอปท. ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 708,767 คน

ดร.ประสาร กล่าวว่า เด็กนอกระบบการศึกษา เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่กสศ.ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ให้ได้รับการดูแลทันทีเพราะในสถานการณ์นี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านคุณภาพชีวิตโดยกสศ.จะทำงานร่วมกับ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นเร่งด่วนอย่างน้อย 35,000 คน ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้าแล้วก็จะสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นหรือการพัฒนาทักษะอาชีพตามศักยภาพต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารกสศ.ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายแรงงานด้อยโอกาสที่ถูกเลิกจ้างกระทันหัน กลุ่มคนจนเมือง พ่อแม่นักเรียนยากจนพิเศษ และแรงงานตกงานที่กลับสู่บ้านเกิด โดยกสศ.จะทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาทักษะอาชีพ 80 ตำบลทั่วประเทศเพื่อจัดทำระบบตัวแบบการเรียนรู้ของชุมชนที่เข้มแข็ง และมีเครื่องมือการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้น โดยจะต้องเป็นหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพที่เรียนรู้และสามารถปรับใช้ได้เร็ว เบื้องต้นจะสามารถช่วยเหลือแรงงานด้อยโอกาสได้เบื้องต้น10,000 คนที่สามารถขยายผลในชุมชนของตนเองได้

“กสศ.พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุด ทั้งในส่วนนักเรียนยากจนพิเศษในระบบ เด็กนอกระบบ และแรงงานด้อยโอกาส โดยจะช่วยเหลือได้ทันทีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ ด้วยความพร้อมของฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือiSEE ของกสศ.สามารถชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุดได้อย่างแม่นยำเพื่อให้มั่นใจว่าช่วยเหลือถูกคนและบรรเทาปัญหาได้อย่างตรงจุดอย่างแท้จริง”ดร.ประสาร กล่าว

ขอเชิญชวนประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความช่วยเหลือในวิกฤตครั้งนี้กับกสศ.และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ได้ที่ https://donate.eef.or.th/main-donate หรือธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) - เงินบริจาค เลขที่บัญชี 1720300216สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 02- 079-5475