จับตา 'ณัฏฐพล' นำร่องทิ้ง 'กก.บห.' พรรคพลังประชารัฐ

จับตา 'ณัฏฐพล' นำร่องทิ้ง 'กก.บห.' พรรคพลังประชารัฐ

ตั้งเป้า "กรรมการบริหาร" ออกถึงครึ่ง ปลด "หัวหน้าพรรค" อัตโนมัติ พปชร. เรียก ส.ส. ถกด่วนวันนี้  "ประวิตร" ออกตัวเคลียร์ลูกพรรค ด้าน "สมคิด" นำ "อุตตม-สนธิรัตน์" คุย "สุริยะ" ถกระอุ

ความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงมีความพยายามของแกนนำและส.ส.บางกลุ่ม เดินเกมเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค จากนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยทั้ง 2 ฝั่ง ยังเดินสายล็อบบี้อย่างต่อเนื่อง แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม จะออกมาส่งสัญญาณให้หยุดเคลื่อนไหว เนื่องจากต้องการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 เม.ย. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาหารือร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสหากรรม ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนไปร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ บรรยากาศการมาหารือร่วมกันครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวความแตกแยกภายในพรรค พปชร.อย่างหนัก เพื่อบีบนายอุตตม และนายสนธิรัตน์ พ้นจากการเป็นหัวหน้า และเลขาธิการพรรค โดยมีการมองกันว่า กลุ่มนายสมคิด ต้องการดึงจำนวนเสียงส.ส.จากกลุ่มสามมิตร เข้ามาอยู่ในกลุ่มของตัวเอง เพื่อเป็นอำนาจต่อรอง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก พปชร. เปิดเผยว่า บรรยากาศในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างหนักว่า จะเดินหน้าแสดงพลังหรือจะทำอย่างไรต่อไป โดยมีข้อเสนอหลายแนวทาง แต่สุดท้ายทั้งหมดก็เลือกจบด้วยวิธีการประนีประนอม เนื่องจากมองว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพปชร. เป็นผู้ใหญ่ที่ ส.ส.พรรคให้ความเคารพ และสถานการณ์เวลานี้ ไม่เหมาะที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมือง เนื่องจากทุกคนควรมุ่งไปแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 และดูแลความปลอดภัยของประชาชนมากกว่า

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากพรรค พปชร. ยังเปิดเผย ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาเบรกเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพรรค พปชร.และเรื่องการปรับครม. หลังจากกลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กับนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ประธานส.ส.พปชร.เดิมเกมให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค และยังล็อบบี้ให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ยื่นใบลาออกเพื่อให้สัดส่วนเหลือไม่ถึงครึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันสิ้นสภาพลงโดยอัตโนมัติ และสามารถเลือกชุดใหม่ได้ แต่ปรากฏว่า หลังเช็กเสียงแล้วปรากฏว่าจำนวนเสียงไม่เพียงพอ จึงต้องพับแผนไว้ชั่วคราว

และล่าสุด พล.อ.ประวิตร ได้ต่อสายไปยังกลุ่มต่างๆ ในพรรคที่เคลื่อนไหวอยู่ให้ยุติการให้ข่าวเรื่องนี้ รวมถึงความเคลื่อนไหวการปรับครม. โดยขอ อย่าไปให้ข่าวหรือตอบโต้ ต่อสู้กัน เพราะข่าวที่ออกมาในช่วงนี้ไม่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่

ขณะเดียวกัน ยังมีกระแสข่าวว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรคพปชร. ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพปชร.แล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะเป็นการนำร่องให้กรรมการบริหารพรรค คนอื่น ได้ยื่นใบลาออกตาม โดยมีเป้าหมายให้ กรรมการบริหารพรรค ยื่นใบลาออกให้เกินครึ่งหนึ่ง เพื่อบีบให้พรรคต้องเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

วันเดียวกันนี้ มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่พรรค พปชร. ได้โทรศัพท์แจ้งไปยัง ส.ส. พปชร. ทุกคน โดยเฉพาะคนที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัด ให้มาเข้าร่วมประชุมที่ทำการพรรคพปชร. ในวันที่ 30 เม.ย. เวลา 11.00 น. โดยไม่ได้แจ้งว่าจะมีการประชุมในวาระใด

"บิ๊กป้อมสยบข่าวเปลี่ยนหัวหน้า-เลขาฯ

ทางด้านท่าที พล.อ.ประวิตร ประธานยุทธศาสตร์ พปชร. ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึงปัญหาความวุ่นวายภายในพรรคขณะนี้ได้มีการพูดคุย ทำความเข้าใจกันหรือยัง โดยตอบเพียงว่า “อะไร ไม่มีอะไร ๆ" เมื่อถามต่อว่า ปัญหาจบแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า“จบแล้วๆ”

เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า“ไม่มี ๆ” ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมจึงมีคนอยากให้ท่านเป็นหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธตอบคำถามดังกล่าว

แจงเสธ.อ้น"ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

ทางด้านนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคพปชร. กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของแกนนำส.ส.บางกลุ่มในพรรค ที่กดดันให้เปลี่ยนหัวหน้าและเลขาธิการพรรค โดยปรากฏชื่อของพล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา หรือเสธ.อ้น สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เข้ามาเกี่ยวข้องและแสดงความเห็นต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรค ว่า พรรคพปชร. ยืนยันว่าพล.อ.กนิษฐ์ ไม่ได้มีบทบาทอะไรภายในพรรค เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรค

“ต้องขอยืนยันให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ถูกนำไปกล่าวหาว่ามีบุคคลภายนอกมาครอบงำพรรค อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การแสดงความเห็นของพล.อ.กนิษฐ์ ซึ่งเป็นส.ว.กำลังแสดงตนฝักใฝ่ทางการเมือง ซึ่งถือว่าขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่”

เรืองไกรจ่อยื่นกกต.ฟันยุ่งพปชร.

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่พล.อ.กนิษฐ์ ยอมรับว่าเข้าช่วยงานการเมืองให้กับ พล.อ.ประวิตร ว่า ถือเป็นการยอมรับอย่างชัดเจนต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งถือว่าขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ส.ว.นั้นต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ภายใต้ของพรรคการเมืองใดๆ ซึ่งตนติดตามเรื่องดังกล่าวและเตรียมจะรวบรวมข้อมูลรวมถึงบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

“ผมดูจากข่าวที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างคนของพรรคพลังประชารัฐ และข่าวระบุว่ามีชื่อของพล.อ.กนิษฐ์ อยู่ด้วย ซึ่ง พล.อ.กนิษฐ์นั้น ได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอนมียศเป็น พล.ท. และเมื่อเป็น พล.อ. ได้รับการเลือกให้เป็น ส.ว.ชุดปัจจุบันนี้ ทั้งนี้กรณีที่พรรคการเมืองใด ยอมให้บุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น อาจทำให้พรรคการเมืองทำผิดกฎหมายด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ผมขอเวลารวบรวมเอกสารและหลักฐาน ประมาณ 2 วัน จากนั้นจะยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ ส่วนการพิจารณาจะถึงขั้นส.ว.ที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต.” นายเรืองไกร กล่าว

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่าบุคคลที่ได้รับตำแหน่งให้เป็นส.ว. หรือสมาชิกสภาสูง จำเป็นต้องรู้กฎหมาย จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่พล.อ.กนิษฐ์ยอมรับว่าเคยทำงานให้กับพล.อ.ประวิตร สมัยที่รับราชการ และเมื่อพล.อ.ประวิตร เข้ามาทำงานการเมือง ต้องตามมาทำงานด้วย ถือว่าเป็นคนละสถานะแล้ว และกฎหมายชี้ชัดว่าสมาชิกสภาสูงห้ามฝักใฝ่ใดๆ ในทางการเมือง และต้องเป็นกลางทางการเมืองด้วย (ภาพ-fb/พลังประชารัฐ)