รวมมาตรการ 'กยศ.' ช่วยนักเรียน นักศึกษาสู้ 'โควิด-19' อัพเดทล่าสุด!

รวมมาตรการ 'กยศ.' ช่วยนักเรียน นักศึกษาสู้ 'โควิด-19' อัพเดทล่าสุด!

รวมมาตรการ "กยศ." หรือ "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" ช่วยนักเรียน นักศึกษาใน "มหาวิทยาลัย" เพิ่มค่าครองชีพ ลดภาระการชำระหนี้ พยุงสภาพคล่องสู้ "โควิด-19"

หลังจากที่ "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ "กยศ." ออก 8 มาตรการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาช่วง "โควิด-19" ได้แก่

1) ลดอัตราเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5%
2) ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน
3) ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว
4) ลดเบี้ยปรับ 75% เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดําเนินคดีที่ชําระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชําระ)
5) พักชําระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี
6) ผ่อนผันการชําระหนี้ ในกรณีสถานการณ์ที่มีความจําเป็นสําหรับผู้กู้ยืมที่ครบกําหนดชําระหนี้และไม่เป็นผู้ผิดนัดชําระหนี้ 
7) งดการขายทอดตลาด สําหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันที่กองทุนได้ดําเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย
8) ชะลอการบังคับคดี สําหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันทุกคดี กองทุนจะชะลอการบังคับคดีไว้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

นอกจาก 8 มาตรการ แล้ว กยศ. ยังมีเพิ่มค่าครองชีพรายเดือน ช่วยเพิ่มสภาพคล่องลูกหนี้รายเก่า พร้อมทั้งปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้กู้ยืมเงินที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ครอบคลุมกลุ่มที่กว้างขึ้น ดังนี้

  •  กยศ. ปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้กู้ยืมใหม่ พร้อมเพิ่มค่าครองชีพรายเดือน 

158814962182

ล่าสุด กยศ. ออกมาตรการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ด้วยการปรับเกณฑ์คุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากเดิมรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี เป็นไม่เกิน 360,000 บาท/ปี อีกทั้ง กองทุนได้มีการปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกรายละ 600 บาท/เดือน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,800 บาท/เดือน ส่วนระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี จากเดิม 2,400 บาท เป็น 3,000 บาท/เดือน

สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังมองหาโอกาสทางการศึกษาเพื่อต่อยอดสู่สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก โดยเฉพาะสาขาวิชาที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ 3 โครงสร้างพื้นฐาน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้กู้ยืมที่เรียนระหว่างปีการศึกษา 2562 - 2566 เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน 0.5% ต่อปี

สำหรับผู้กู้ยืมระดับปริญญาตรี จะได้ส่วนลดเงินต้น 30% สำหรับผู้กู้ยืมระดับอาชีวศึกษา จะได้ส่วนลดเงินต้น 50% เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมถึงเป็นการป้อนกำลังคนในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพที่ยังขาดแคลนสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศ

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมระบบราง 2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และ 3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

นอกจากนี้ กองทุนได้เตรียมงบประมาณให้กู้ยืมจำนวนประมาณ 34,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่คาดว่าจะกู้ยืมในปีนี้จำนวน 590,000 ราย ซึ่งเงินที่ใช้ในการให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นเงินที่ได้รับชำระคืนจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

กองทุนได้เปิดระบบ e-Studentloan เพื่อให้นักเรียน นักศึกษายื่นแบบคำขอกู้ยืมล่วงหน้าแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th หรือสอบถามได้ที่ Line@กยศ. หรือโทร. 0 2016 4888 

  

ที่มา: กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา,  สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station