กสทฯ ปั้น 'ธุรกิจดาวเทียม' เสริม 5จี

กสทฯ ปั้น 'ธุรกิจดาวเทียม' เสริม 5จี

กสทฯเฟ้นหาพาร์ทเนอร์ลุยดาวเทียมวงโคจรต่ำหนุนโครงข่าย 5จี ชี้ธุรกิจดาวเทียมไม่ใช่ขาลง พร้อมส่งแผนรับช่วงไทยคม 4 และ6ต่อจากคู่สัมปทานแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายมองว่า ธุรกิจดาวเทียมอยู่ในช่วงขาลง แต่แท้จริงแล้วดาวเทียมสามารถนำมาพัฒนาในพื้นที่ที่สายไฟเบอร์ หรือสถานีฐานของผู้ให้บริการเข้าไม่ถึง และด้วยคุณสมบัติสำคัญคือการส่งข้อมูลความเร็วสูงเกิน 400 เมกะบิต ความหน่วงต่ำกว่า 32 มิลลิวินาที และสามารถเชื่อมต่อกับไอโอที จึงสามารถเสริมประสิทธิภาพร่วมกับ 5จีภาคพื้นดินเพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่สำหรับการพัฒนา 5จี ของไทยอย่างเต็มรูปแบบ

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้เห็นชอบให้กสทฯเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียมกับบมจ.ไทยคม ในเดือนกันยายน 2564 ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอกระทรวงดีอีเอสเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากได้รับอนุมัติจาก ครม. จึงจะสามารถบริหารจัดการภาพรวมทั้งโครงการ

“การบริหารจัดการ และควบคลุมดาวเทียมในบางส่วนซึ่งมีความละเอียดอ่อนจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มความรู้ทักษะเฉพาะด้าน กสทฯจะพัฒนาบุคลากร โดยส่งพนักงานเข้าฝึกอบรมเตรียมความพร้อมในการบริหารสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งต้องส่งไปฝึกอบรมกับไทย จำนวน 24 คน ในก.ย.2563 และได้ตั้งหน่วยธุรกิจ (บียู) สำหรับดำเนินการกิจการดาวเทียมโดยเฉพาะแล้ว”

เขา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดทำแผนบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติแบบจีทูจีด้วยกระบวนการตามมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) นำเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติและบอร์ดดีอีแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 โดยกสทฯได้เตรียมแผนบริหารดาวเทียมที่จะเหลือ 2 ดวงหลังสิ้นสุดสัมปทานคือไทยคม 4 และ 6 รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรองรับงานในอนาคต ดังนั้น หากบริษัททำเองได้ทั้งหมดก็ไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตร