'CPTPP' บนทางแยก ที่ยังรอการ 'ตัดสินใจ'

'CPTPP' บนทางแยก ที่ยังรอการ 'ตัดสินใจ'

"CPTPP" เรื่องร้อนๆในตอนนี้ ที่รอการตัดสินใจจากรัฐบาลไม่ได้มีแค่การระบาดของโรคโควิด-19 เท่านั้น หลังกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)ให้ศึกษาการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลง

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการศึกษาและการระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)

158798867134

สาระสำคัญของผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 0.12%   หรือจีดีพีมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14%  มูลค่า1.48 แสนล้านบาท  แต่หากไม่เข้าร่วมจีดีพีไทยจะลดลง 0.25%  กระทบการลงทุน0.49% รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิกแล้ว

ดังนั้น ภายหลังโควิด-19 รูปแบบการค้า กฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของสินค้าที่สูงขึ้น การให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การให้แต้มต่อทางการค้า รวมทั้งไม่ตกขบวนรถไฟของกระบวนการหรือห่วงโซ่การผลิตโลก  เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ผ่านการสร้างกลไกพันธมิตรทางการค้าจากข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ 

อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีประเด็นที่เป็นความกังวลต่อความตกลงฯในด้านต่างๆ ทั้งการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าความตกลงฯ ได้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลง 

ส่วนเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิกสามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม 

เช่นเดียวกับประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงฯ เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิกเข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิกซีพีทีพีพีสามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนาม ขอเวลาปรับตัวถึง 25 ปี 

ส่วนข้อกังวลอื่นๆ ที่มีหน่วยงาน ภาคเกษตร ภาคประชาสังคมหยิบยก ไทยก็จะต้องเข้าไปเจรจา ต่อรองเพื่อขอข้อยืดหยุ่น และข้อยกเว้น ที่จะไม่รวมเรื่องที่ไทยมีข้อกังวล หรือไม่พร้อมจะเปิดตลาด และไทยยังมีกองทุนข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอไว้เป็นเครื่องมือเยียวยากรณีเกิดผลกระทบรองรับอีกทางหนึ่ง 

158798869259

ด้านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า ยังมีข้อกังวลบางประเด็นของ ซีพีทีพีพีและข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปัจจุบัน อาจจะไม่เหมาะสมกับเวลา จึงเห็นขอถอนเรื่องออกไปจากการพิจารณาของครม.ก่อน

ด้านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสำหรับประเด็นการเดินหน้าเจรจาซีพีทีพีพีนั้น เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงเพราะ ครม.เศรษฐกิจไม่เคยมีการพิจารณาเรื่องนี้แต่เป็นการประชุมของกนศ. ซึ่งตนเป็นประธาน โดย กนศ.มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียในเรื่องของการเข้าร่วมข้อตกลงนี้และให้นำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบตามขั้นตอน

“เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์เป็นหลักในการเดินหน้าต่อ เป็นการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ และในขณะนี้ตนไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว”

158798872180