“The Hammer & The Dance” เอาชนะโควิด-19 ได้อย่างไร

 “The Hammer & The Dance” เอาชนะโควิด-19 ได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์ “The Hammer & The Dance” ทุบด้วยค้อน และ เปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ คือยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศนำไปใช้ในการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาด ในการออกมาตรการเข้มข้น และ ผ่อนปรนในบางช่วงเวลาเพื่อดูสถานการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น จาการทำงานร่วมกันของต้นน้ำ คือ ความร่วมมือของประชาชน และปลายน้ำ คือ การรักษา โดยบุคลากรด้านสาธารณสุข การดำเนินการต่อไป คือ การพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่ง ยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศใช้ คือ “The Hammer & The Dance” ทุบด้วยค้อน และ เปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ คือ การคุมเข้ม และ ผ่อนปรน พร้อมกับดูผลที่ตามมา รวมถึงดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

วันนี้ (27 เมษายน) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าววิเคราะห์สถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาเราแบ่งประเทศที่พบเชื้อโควิด-19  ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่ควบคุมโควิด-19 อยู่ และกลุ่มประเทศที่คุมโควิด-19 ไม่ค่อยอยู่ ณ วันนี้เรามีแนวโน้มว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ควบคุมอยู่ ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ที่เคยคุมอยู่ตัวเลขกลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองประเทศกำลังมีมาตรการในการควบคุมและคาดว่าไม่นานจะสามารถควบคุมได้

“ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ที่เคยเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ อัตราการป่วยลดลงและอัตราการเสียชีวิตน้อย เช่นเดียวกับประเทศไทย เราเริ่มต้นดูน่ากลัว แต่มีหลายกิจกรรมที่เราช่วยกัน ทำให้กลับมาอยู่ในกลุ่มควบคุมได้ โดยไทยมีอัตราการเสียชีวิต อยู่ที่ 1.8%"

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 26 เมษายน เคยมีการคาดการณ์ว่าหากตัวเลขลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 9 เมษายน – 23 เมษายน เราคงต้องคิดเรื่องการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างลง และตัวเลขก็เป็นไปตามนั้นจริง สำหรับในวันที่ 25 เมษายน ที่ตัวเลขกระโดดขึ้นไปที่ 53 ราย เป็นตัวเลขที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในศูนย์กักกันเข้าเมือง แต่คนเหล่านี้ถูกควบคุมในพื้นที่ไม่กระจายไปที่ต่างๆ และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ เมื่อวาน (26 เมษายน) ก็ลดลงอยู่ที่ 15 ราย

ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดการกับการแพร่ระบาดโควิด-19 มีด้วยกัน 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ “ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ” คือ เป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ หน้าที่หลักคือหน้าที่ของคนไทยทั้งประเทศ และ “ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ” เป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการกลับบ้าน อัตราการหาย ผู้รับผิดชอบคือกระทรวง ทบวง กรม รัฐบาลที่ดูแลรับผิดชอบระบบบริการสุขภาพ รวมถึงบุคลากรทั้งหลาย

158797928633

“ยุทธศาสตร์ปลายน้ำจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ต้นน้ำ หากยุทธศาสตร์ต้นน้ำมีผู้ป่วยเยอะ ทะลักเข้ามาในโรงพยาบาล ยุทธศาสตร์ปลายน้ำยากที่จะเอาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีจำนวนผู้ป่วยใหม่เข้ามา เกินศักยภาพที่ประเทศไทยจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ ณ วันนี้คนไทยทั้งประเทศได้ช่วยกัน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของประชาชน ซึ่งมาจากจิตสำนึกที่ดี วินัย และมาตรการที่รัฐบาลออกมา”

“แต่แม้จะออกมาตรการออกมาอย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับความร่วมมือย่างดี มาตรการจะสำเร็จได้ยาก ดังนั้น ขอย้ำว่าเราจะต้องทำต่อเนื่องกันไป สู่ช่วงของการผ่อนปรน คือ จิตสำนึก ความรับผิดชอบ วินัย ขณะที่ปลายน้ำวันนี้เรามีผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน บุคลากรการดูแลด้านสุขภาพมีโอกาสฟื้นตัวและพร้อมสู้รบใหม่หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความรับผิดชอบ ความศรัทธาในวิชาชีพของบุคลากร และความทุ่มเทให้กับประเทศไทย”

  • ทุบด้วยค้อนแล้วเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เราจะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตก็ลดลง โดยเฉพาะหลังวันที่ 10 เมษายน พบว่าผู้ป่วยหายและกลับบ้านมากกว่าผู้ป่วยใหม่ นี่คือตัวชี้วัดว่าน่าจะถึงเวลาในการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเพื่อเข้าสู่ยุทธวิธีใหม่ โดยนำปัจจัยการติดเชื้อผู้ป่วยใหม่มาประกอบการพัฒนายุทธศาสตร์ในการผ่อนคลาย

สำหรับยุทธศาสตร์ The Hammer & The Dance หรือ การทุบด้วยค้อนและเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ ค้อน คือ การควบคุม การฟ้อนรำ คือ การผ่อนคลาย เป็นยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศนำมาใช้ หลักการเหมือนกัน แต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกัน เพราะบริบท วัฒนธรรม ความคิดของคน ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เมื่อเราเริ่มมีการติดเชื้อโควิด-19 หากเราไม่ทำอะไรเลยจะเกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยใหม่สูงขึ้น แต่หากทำมาตรการบรรเทายอดผู้ป่วยก็ยังจะสูงอยู่ แต่หากใช้มาตรการแรงเพื่อต้องการทำให้จำนวน ผู้ป่วยใหม่น้อยลง หากเมื่อไหร่ที่ทำได้สำเร็จ ผู้ป่วยใหม่น้อยลง สัดส่วนผู้ป่วยใหม่ที่จะนำไปสู่ผู้ป่วยหนักก็จะน้อยลง

“อย่างที่ทราบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 80% มีอาการน้อยมาก 20% มีอาการต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา และในจำนวนนี้มี 5% ที่ต้องเข้าไอซียู ดังนั้น หากทำกระบวนการทุบด้วยค้อนสำเร็จ โดยการออกมาตรการเข้มงวดและประชาชนดำเนินการร่วมมือ สิ่งที่เกิดขึ้นคือจำนวนผู้ป่วยจะลดลง และเข้าสู่โหมดที่ 2 คือ การเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

สำหรับ ยุทธศาสตร์ที่ทุบด้วยค้อน หรือการควบคุมเข็มงวด กำหนดไว้ว่าไม่ควรทำในระยะเวลานาน เพราะสิ่งที่แลกมาคือเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่เราบอกให้ทุกคนอยู่บ้าน ไม่อยู่ในพื้นที่ชุมชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือรายได้ลดลง คนจำนวนหนึ่งจะขาดงาน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน คนที่อยู่บ้าน ความตึงเครียดของสังคมก็จะมีมากขึ้น ถึงจุดๆ หนึ่งอาจจะรับไม่ได้ ดังนั้น โดยหลักการใช้ยุทธศาสตร์ทุบด้วยค้อน จึงทำเป็นสัปดาห์ - เดือนครึ่ง ต้องเริ่มผ่อนคลาย ต้องหาจุดสมดุล ระหว่างสุขภาพ  เศรษฐกิจ และสังคม

  • หากสถานการณ์ไม่ดี อาจมีลงค้อนครั้งที่ 2

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  กล่าวต่อไปว่า จุดที่ผ่อนคลายในโหมดฟ้อนรำ หลายประเทศที่นำยุทธศาสตร์นี้มาใช้จะผ่านการทุบด้วยค้อนและควบคุมอย่างเข็มงวด เข้าสู่ช่วงการอนุญาตให้ผ่อนคลาย มีเกณฑ์หลายเกณฑ์ สำหรับประเทศไทย เราผ่านเกณฑ์หลายตัวมาก เช่น ความสามารถในการแพร่กระจาย เมื่อไทยมีการติดเชื้อใหม่ โดยเฉลี่ยคน 1 คนสามารถแพร่เชื้อได้ 1.2 คน แต่ ณ วันนี้ ข้อมูลในวันที่ 14 เมษายน อัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 0.77 แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่า ณ วันนี้อัตราการแพร่เชื้อคาดว่าจะอยู่ที่ บวกลบ 0.6 ตัวเลขดังกล่าวนำมาสู่การพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ

สำหรับ “การแยกตัวบุคคล” ในตอนนี้ ประเทศไทยทำได้ดีพอสมควร เรามีศูนย์กักกันแยกระดับประเทศและระดับจังหวัด สิ่งเหล่านี้ถ้าทำไม่สำเร็จตัวเลขผู้ป่วยใหม่กระจายอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเราได้ดีพอสมควร ขณะที่การให้ความรู้กับสังคมเกี่ยวกับไวรัส เราทำได้ดี สังคมไทยแตกต่างจากสังคมหลายประเทศ เพราะมีความร่วมมือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ อยู่บ้าน ทำให้เรามั่นใจว่า การให้ความรู้แก่สังคมทำได้ดี

ถัดมา “การปิดสถานที่ที่คนรวมกลุ่มเยอะ” โดยรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การเคอร์ฟิว ปิดสถานที่ต่างๆ ทำให้สถานที่ที่มีโอกาสแพร่กระจายถูกปิดไป ส่งเสริมให้ผุ้ป่วยน้อยลง หลังจากนี้ จึงเข้าสู่กระบวนการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง แต่อย่าลืมว่า เมื่อไหร่ที่จำนวนการติดเชื้อกลับขึ้นมา และส่งสัญญานไม่ดี อาจจะต้องมีการลงค้อนเป็นครั้งที่ 2 เพื่อดึงให้ทุกอย่างกลับลงมา และทบทวนมาตรการต่างๆ ว่าได้ผลหรือไม่”

“ในหลายประเทศจำนวนห้องไอซียูไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ดังนั้น การเข้าสู่กระบวนการผ่อนคลายแล้วเกิดมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขอให้เข้าใจเมื่อถึงตอนนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการดึงจำนวนคนไข้ลงมาให้ได้ ก่อนจะถึงวิกฤตเช่นนี้”

พิจารณาผลกระทบก่อนผ่อนปรน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า การประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมต่างๆ และผลเชิงบวก พบว่า “การเปิดร้านสะดวกซื้อ” ผลกระทบน้อยมาก ดังนั้น ออกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน จึงเปิดให้ร้านสะดวกซื้อเพื่อให้คนได้จับจ่าย และหากจัดระบบดีพอโอกาสแพร่กระจายจะน้อย ขณะที่ “การออกจากบ้าน” มีผลกระทบสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเชิญชวนให้อยู่บ้าน เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบ

ขณะที่ “โรงเรียน มหาวิทยาลัย” อยู่ในกลุ่มผลกระทบสูงถึงสูงมาก เนื่องจากเชื้อโควิด-19 เด็กเล็กๆ มีโอกาสติดเชื้อได้เยอะ แต่การแสดงอาการน้อย โอกาสเสียชีวิตก็น้อยมากเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีโอกาสการแพร่ระบาดในหมู่เด็กในโรงเรียน  และกระจายไปถึงครู ขณะเดียวกัน ลูกหลานของเราได้รับเชื้อและกลับบ้าน จะเกิดการแพร่กระจายอย่างรุนแรง ดังนั้น การประกาศให้ปิดโรงเรียน ปิดมหาวิทยาลัย เป็นเหตุผลสืบเนื่องมาจากผลกระทบในระดับสูง

สำหรับ “ภัตาคาร บาร์” ก็มีผลกระทบสูงเช่นกัน เพราะเมื่อเราเข้าไปกินดื่ม มักจะไม่ใส่หน้ากากอนามัย และเกิดการพูดคุยกัน ด้วยอารมณ์สนุกสนาน มาพร้อมกับการแพร่กระจายละอองต่างๆ ทำให้เกิดความเสี่ยง ดังนั้น ที่ผ่านมามาตรการของภาครัฐจึงจำเป็นต้องปิดสถานที่เหล่านี้ ให้ซื้อและกลับไปทานที่บ้าน

ด้าน “การกีฬา” ผลกระทบอยู่ในช่วงกลาง แบ่งเป็น กีฬากลางแจ้ง โดยทั่วไปโควิด-19 จะอยู่ไม่ได้นาน แต่หลายครั้งเมื่อเราออกกำลังกายกลางแจ้ง เราไม่ได้ใส่หน้ากาก เพราะการใส่หน้ากากออกกำลังกายก็เป็นอันตรายกับตัวเราเช่นเดียวกัน ดังนั้น บ่อยครั้งที่ไปออกกำลังกายเสร็จ จะมีการนั่งคุยกัน นั่นคือความเสี่ยง ส่วน การออกกีฬาในร่ม เช่น ในฟิตเนส ยังคงมีความเสี่ยงสูง การแพร่กระจายเกิดขึ้นได้ง่าย รวมถึง “การจัดประชุม” ที่มีคนเยอะๆ มีโอกาสเสี่ยงเช่นเดียวกัน ซึ่งเราอาจจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องนี้

สำหรับ “การเดินทาง” มีผลกระทบสูง โดยเฉพาะจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศ ตัวอย่างที่เราเห็นในหลายประเทศที่ผ่านมา บางประเทศดูเหมือนควบคุมได้ดี แต่ต่อมากลับแย่ลงก็เกิดจากการปล่อยให้คนนอกประเทศ ขอย้ำว่าในเวลานี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถือว่าปลอดภัยมากที่สุดประเทศหนึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น การที่คนต่างประเทศจะเข้ามาในไทย จะทำให้เกิดความเสี่ยง ยกเว้นการให้คนไทยกลับเข้ามาแต่ต้องมีมาตรการเข้มงวด

ขณะที่ “การส่งอาหาร” ผลกระทบต่ำ ดังนั้น ตอนนี้ยังมีการสั่งอาหาร ส่งที่บ้านได้ “การทำความสาอาด” เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ในพื้นที่ที่มีการระบาด หรือรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ ยังมีความจำเป็น ส่วน “การติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ” ยังมีความจำเป็นในระดับสูง ณ วันนี้ที่มีแอพพลิเคชั่นเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง ก็ยังมีความจำเป็นในการลดการแพร่กระจาย รวมถึงการล้างมือ สุขภาวะ สุขอนามัยชุมชน

และสุดท้าย “การตรวจ” ให้มากเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลที่มาเป็นคนกลุ่มใด มีเชื้อหรือไม่มี มีอาการหรือไม่มี มีภูมิแล้วหรือยัง เราแบ่งคนในประเทศ ออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ติดเชื้อ กลุ่มที่อาการบ่งชี้แต่ยังตรวจไม่เจอ กลุ่มที่สัมผัสกับคนที่ติดเชื้อแต่ตรวจยังไม่เจอ กลุ่มที่ไม่ได้ตรวจแต่อาจมีเชื้อแต่ไม่มีอาการ และกลุ่มที่มีภูมิต้านทาน

“ณ วันนี้ มีการนำเอาข้อมูล และข้อคิดเห็นเหล่านี้มาประกอบเพื่อเข้าสู่กระบวนการผ่อนคลาย เช่น ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้ในระดับดี ได้นำเอายุทธศาสตร์ The Hammer and The Dance มาใช้เช่นเดียวกัน  สำหรับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนคลายอาจมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น หากมาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จำนวนการเพิ่มจะไม่เยอะ และถึงจุดๆ หนึ่ง รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องอาจจะต้องตัดสินใจว่า จำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเกินศักยภาพ ก็อาจจะเข้าสู่การควบคุมใหม่ เมื่อควบคุมใหม่จำนวนผู้ป่วยอาจจะลดลง และเข้าสู่การผ่อนคลาย อาจจะต้องสลับไปเป็นครั้งคราว ทั้งทุบด้วยค้อน และอนุญาตให้ฟ้อนรำ” คณบดี คณะแพทย์ฯ กล่าว

  • ผ่อนผันแบบค่อยเป็นค่อยไป

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ข้อพึงระวังจาก “ควบคุม” สู่ “ผ่อนผัน” ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้น อัตราเร็วของการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนจาก “ผ่อนผัน” กลับสู่ “ควบคุม” ทั้งนี้ การผ่อนผันที่เร็วและมากเกินไป เป็นสาเหตุของการกลับมาเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศ

“การเปลี่ยนจาก “ควบคุม” สู่ “ผ่อนผัน” จึงควรค่อยเป็นค่อยไป ตัวอย่างเช่น ประเทสญี่ปุ่น หรือ สิงคโปร์ ให้เริ่มทำเฉพาะกิจกรรมที่สำคัญบ้าง แต่อาจต้องกลับมา “ควบคุม” อีกหากสถานการณ์ควบคุมเชื้อแย่ลง รวมไปถึงการปรับตัว การเข้าใจ การมีวินัยของคนทั้งประเทศ มีส่วนสำคัญต่ออัตราเร็วของการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่”

คณบดีคณะแพทย์ฯ กล่าวต่อไปว่า การรักษระยะห่างระหว่างบุคคล การป้องกันตนเองและสังคม โดยใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ยังเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง การผ่อนผัน ผ่อนคลาย คือ การผ่อนผันออกจากบ้านเพื่อทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ยังต้องเข้มงวดกับมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ทั้งของผู้ที่ออกไปทำกิจกรรมและผู้ประกอบการ ซึ่งหลักการยังคงอยู่ คือ เมื่อทำกิจกรรมเหล่านั้นเสร็จ ขอให้อยู่บ้าน เมื่อกลับเข้าบ้าน ล้างมือเหมือนที่เคยปฏิบัติ

“นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ ยังขอให้งดการออกนอกบ้านอีกระยะหนึ่ง ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะผิดพลาดที่จุดใดจุดหนึ่ง อาจกระทบกันทั้งประเทศ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย