ถอดรหัสพันธุกรรม โควิด-19 ในคนไทย

ถอดรหัสพันธุกรรม โควิด-19 ในคนไทย

สธ.เผยผลตรวจแอนติบอดีขึ้น หลังมีอาการ 14 วัน 85% ระบุช่วงแรกการตรวจภูมิคุ้มกัน ไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยรักษา ฝากประชาชนการซื้อชุดตรวจมาตรวจเองถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสผู้ติดเชื้อในไทย

วันนี้ (26 เมษายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลการตรวจแล็บทั่วไทย และ ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด -19 ว่าจากการดำเนินการของห้องปฏิบัติการตรวจโควิด-19 ตอนนี้มีห้องตรวจ 124 แห่งทั่วประเทศ และมีระบบที่โรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถส่งตัวอย่างและรายงานผลออนไลน์โดยใช้ระยะเวลารายงานผลเพียง 1 วัน

ทั้งนี้ สำหรับการตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 หรือหาภูมิคุ้มกัน ของเชื้อโควิด -19  จากการนำคนไข้ 34 รายมาตรวจ พบว่า เมื่อมีอาการได้รับเชื้อ 7 วัน ถึงจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น โดยหลังจากมีอาการ และไม่เกิน 7 วันจะมีภูมิคุ้มกันขึ้น 17.65 %  ส่วนมีอาการ 8-14 วัน ภูมิคุ้มกันขึ้น 42.42% และหลังจากมีอาการมากกว่า 14 วัน จะมีภูมิคุ้มกันขึ้น 85% ดังนั้น เวลาที่มีอาการ สิ่งที่จะตรวจได้ก่อน คือ การหาเชื้อตามการตรวจพันธุกรรม แต่จะมีภูมิคุ้มกันขึ้น ต้องผ่านไป 7-14 วัน

“ช่วงแรกการตรวจภูมิคุ้มกัน ไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยรักษาจะมีประโยชน์ในบางกรณีเท่านั้น  อีกทั้งเชื้อโรคนี้เป็นโรคใหม่ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ ฉะนั้น อยากฝากประชาชนการซื้อชุดตรวจมาตรวจเองถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และการตรวจต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นอกจากนั้น  จากการศึกษาวิจัยโควิด-19 ธรรมชาติของเชื้อมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาและมีถ้าเทียบกับไข้หวัดใหญ่ การกลายพันธุ์ค่อนข้างช้ากว่า ซึ่งการกลายพันธุ์ ขณะนี้มีโอกาสน้อยมาก และยังไม่มีนัยยะสำคัญว่าทำให้ติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนอย่างกังวลในเรื่องนี้” นายแพทย์โอภาส กล่าว

สธ.แบ่งกลุ่มตรวจผู้มีอาการสงสัยโควิด-19

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่าขณะนี้ตรวจทางห้องบริการได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยได้มีการจัดแบ่งกลุ่มผู้ป่วย ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่มีอาการสงสัย ซึ่งกลุ่มนี้ต้องตรวจโดยสถานพยาบาล และการตรวจต้องมีการนำสารคัดหลั่งมาตรวจ เนื่องจากพบว่า มีโอกาสพบเชื้อสูง กลุ่มที่2  กลุ่มการหาผู้ป่วยเชิงรุก มีการลงไปชุมชน และค้นหาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และกลุ่มที่ 3 การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มที่อยู่กันอย่างแออัดในสถานที่บางแห่ง หรือกลุ่มคนที่ทำงานสาธารณะ และอาชีพที่เสี่ยงต่อไป  

ขณะนี้ทางสธ.ได้มีการลงพื้นที่ตรวจในพื้นที่เสียงจำนวนกว่า 10,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ กทม.หรือภูเก็ต และในชุมชนที่มีการระบาดสูง รวมถึง3 จังหวัดชายแดนใต้ และมีการเฝ้าระวังพื้นที่ต่างๆ  ส่วนวิธีการตรวจ ปัจจุบันผู้ที่มีความเสี่ยงสูงยังใช้วิธีตรวจแบบเดิม แต่กลุ่มอื่นๆ จะอาศัยวิธีการตรวจให้ได้ผลที่รวดเร็ว อาจจะมีการตรวจทางน้ำลาย  หรือให้พื้นที่เก็บตัวอย่างชุมชน เพื่อค้นหาผู้ป่วยได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการออกไปเก็บตัวอย่างการแพร่เชื้อ ต้องดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่กำหนด และความปลอดภัย ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตถึงจะสามารถลงไปในพื้นที่เก็บตัวอย่างในชุมชนได้ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ระมัดระวังอย่างมาก  เช่น การเก็บตัวอย่างต้องไม่มีการแพร่เชื้อ และไม่เก็บในที่สาธารณะอันนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อ เป็นต้น

ถอดรหัสพันธุ์กรรม โควิด-19 ส่วนใหญ่มาจากจีน

ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าตั้งแต่มีเคสเข้ามาในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมเพศหญิง 2 ราย ที่มีอายุ 61 ปี และ 74 ปี ซึ่งทั้ง 2 ราย เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนมายังไทยและเป็น2 รายแรกที่มีอาการในประเทศไทย

พบว่า เชื้อผู้ป่วย 2 รายแรก มีความใกล้เคียงกับ SARS-like ของค้างคาว 88% มีความใกล้เคียงกับ SARS-CoV ที่เป็นสาเหตุของการระบาดเมื่อปี 2546 เพียง 80% โปรตีนที่ผิวของ SARS-CoV-2 มีความเหมือนกับโปรตีนที่ผิวของ SARS-CoV เพียง 76% ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าความแตกต่างกันในด้านความรุนแรงในการก่อโรคและการแพร่กระจายของเชื้อ

“วิวัฒนาการเชื้อไวรัสจากการถอดรหัสพันธุกรรม ปัจจุบันแบ่งเป็น3 กลุ่ม คือ เชื้อสายพันธุ์ S สายพันธุ์Gและสายพันธุ์Y ซึ่งในประเทศไทยจากการเก็บรวบรวมเชื้อประมาณ 13 ราย  เชื้อที่ระบาดส่วนใหญ่ พบเป็นสายพันธุ์ S ที่มาจากประเทศจีนในระยะแรก จำนวน 9 ราย ถัดมาคือ สายพันธุ์G และ สายพันธุ์V  ซึ่งเป็นสายพันธุ์ตะวันตก โดยหลังจากนี้จะมีการถอดรหัสเพิ่มเติมให้ครบ 100 ราย ต่อไป”ดร.พิไลลักษณ์ กล่าว

ย้ำประชาชนสวมใส่หน้ากากต่อเนื่อง

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าตอนนี้มีผู้ป่วยสะสมกลับบ้านได้ ประมาณ 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด และในบรรดาผู้ป่วยยืนยันรายใหม่  15 รายเกือบ 50% พบในสถานที่ที่ดำเนินการ มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยเริ่มมีการผ่อนคลาย และการที่ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำให้ทุกคนตระหนักและการป้องกันโรค รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร และการใช้หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยน้อยลง

จากการสำรวจออนไลน์ ประชาชนว่า หากท่านมีอาการไข้และมีอาการหวัด เช่น  ไอ จาม น้ำมูก จะสวมหน้ากากป้องกันหรือไม่  พบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่ง หรือประมาณ 4.0 เริ่มไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้น อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องนี้ 

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่าสำหรับการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยนั้น อยากให้ติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ด้วย  เพราะภารกิจเหล่านี้ต้องทำต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและสู่เป้าหมายกำจัดเชื้อออกจากพื้นที่ อีกทั้งไม่ใช่เพียงตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยเท่านั้น แต่ต้องค้นหาผู้สัมผัสที่ต้องการติดตามด้วย และเมื่อพบผู้สงสัยต้องรายงานมายังสำนักงานโรคติดต่อ หรือกรมควบคุมโรคทันที หรือภายใน 3 ชั่วโมง