'WTO' เรียกร้องจี 20 ร่วมแก้ปม 'โลกขาดอาหาร'

'WTO' เรียกร้องจี 20 ร่วมแก้ปม 'โลกขาดอาหาร'

องค์การการค้าโลก หรือ "WTO" กังวลภาพการแย่งซื้อและกักตุนอาหารของประชาชนทั้งไทยและในต่างประเทศ เพราะความกังวลว่า สถานการณ์ระบาดโควิด-19 จะทำให้การเข้าถึงอาหารการกินกลายเป็นเรื่องยาก

ภาพการแย่งซื้อและกักตุนอาหารของประชาชนทั้งไทยและในต่างประเทศ เพราะความกังวลว่า สถานการณ์ระบาดโควิด-19จะทำให้การเข้าถึงอาหารการกินกลายเป็นเรื่องยากนั้นกำลังเกิดขึ้นในสเกลใหญ่ของโลก คือหลายประเทศพยายามสต็อกอาหารไว้เพื่อแน่ใจว่าวิกฤตินี้จะไม่ทำให้เกิดความขาดแคลน แต่ผลที่ได้เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม 

ในโอกาสการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือ จี20 เมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประเทศซาอุดี อาระเบียนั้น รแบโต อาซีเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เรียกร้องผ่านเวทีดังกล่าว ให้จี20แสดงท่าทีเพื่อให้แน่ใจว่าการับมือกับโรคโควิด-19 จะไม่เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การขาดแคลนอาหารอย่างไม่ตั้งใจ  ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีที่ร่วมประชุมประกาศความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อนำไปสู่การปฎิบัติการที่ว่าด้วยการสร้างคุณภาพและความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก 

“การขาดแคลนซัพพลายอย่างลึกและการคุมเข้มชายแดนรวมถึงการเดินทาง เป็นต้นเหตุของการปั่นป่วนต่อการค้าระหว่างประเทศ ต่อภาคการผลิตอาหารและการเกษตร นอกจากนี้ เรื่องความพยายามตุนสต็อกอาหาร กำลังกลายเป็นรอยต่อสำคัญของปัญหาการขาดแคลนอาหารโลก” 

ดับเบิลยูทีโอ ของเตือนว่า ให้ประเทศต่างๆหลีกเลี่ยงมาตรการต่างๆ ไม่ให้นำไปสู่การขาดแคลนในอนาคต และขอย้ำว่าอีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความแน่ใจว่าประเทศผู้ผลิตอาหารทั้งหลายจะส่งต่ออย่างลื่นไหลไปยังประเทศอื่นๆเพื่อให้อาหารที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศสามารถส่งต่อไปยังประเทศยังขาดแคลนอยู่

สอดคล้องกับท่าทีของประเทศผู้ผลิตอาหารอย่างไทย โดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  พร้อมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ หารือกับกลุ่มผู้ผลิตไก่สด/แปรรูป นำโดยสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อ สงออกไทย ซึ่งเป็นการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ผู้ผลิตผู้ส่งออก และเกษตรกร เพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตและการส่งออก พร้อมกำหนดแนวทางการบริหารการตลาด และการผลักดันการส่งออกสินค้าไก่ของไทย

 “กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลการบริโภคในประเทศให้เพียงพอ ตลอดจนสนับสนุนการส่งออกให้สอดคล้องกับการผลิต โดยมีผู้เข้าร่วมหารือเช่น สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท Cargil บริษัท GFPT เป็นต้น”

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องการที่จะจับมือร่วมกับเกษตรกรและภาคเอกชนในการเดินหน้าร่วมกัน “พลิกโควิดเป็นโอกาส” เพื่อหาลู่ทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับภาคส่วนต่างๆและเตรียมการสำหรับอนาคตเมื่อโควิดหมดสิ้นไป

สำหรับการผลิตของประเทศไทยรวมกันปีละประมาณ 28 ล้านตันต่อปี ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 8 ของโลกแต่เราสามารถส่งออกได้เป็นลำดับที่ 4 ของโลก แบ่งเป็นเพื่อการบริโภคในประเทศ 60% และเพื่อการส่งออก 40% 

สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งออกได้ 9แสนตัน เป็นมูลราคาประมาณ 1.09แสนล้านบาท โดยไตรมาสแรกของปี 2563 สามารถส่งออกได้ 2.3แสนตันเป็นมูลราคา 2.6หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น7.21%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ตลาดสำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี เป็นต้น และสำหรับทิศทางการส่งออก คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ส่งออกและเกษตรกร รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ส่วนคู่แข่งสำคัญคือประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ที่ครองตลาดลำดับต้นของโลกโดยในตลาดโลกนั้นมีคู่แข่งรายใหม่เพิ่มเติมอีก เช่น ประเทศยูเครน เป็นต้น ซึ่งต้นทุนจะต่ำกว่าเราประมาณ 1ใน3

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า คู่แข่งสำคัญของไทย คือ บราซิล กำลังประสบปัญหาจากการรับมือโรคโควิด ทำให้การส่งออกชะลอไป ในขณะที่ไทยสามารถดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างดี จึงมั่นใจว่า ประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาสการส่งออกได้ 

โดยกระทรวงพาณิชย์จะชูโรงภาพลักษณ์ มาตรฐาน และความเป็นเลิศด้านอาหารของไทย ผ่านเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในยามฉุกเฉิน และหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่บางประเทศคู่ค้าอาจประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

ขณะที่วิกฤติไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่สดฯโดยปัญหาเฉพาะหน้าจะเป็นเรื่องของการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่อาจจะติดขัดในบางจุด หรือมีต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องหาแนวทางดูแลช่วยเหลือและปลดล็อคให้ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคทุกประเทศเพิ่มการให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารและมาตรฐานความปลอดภัยสุขอนามัยมากขึ้น เป็นแต้มต่อกับการส่งออกไทยที่มีชื่อเสียงเป็นครัวโลกมายาวนาน อีกทั้งสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับระดับสากล ทำให้ลูกค้ามั่นใจถึงความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ฟาร์มถึงโรงงาน และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สินค้าไก่ไทยชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกในช่วงนี้ได้ 

โดยได้สั่งการเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลกให้ทำหน้าที่เซลล์แมน หาช่องทางการตลาดเพิ่มเติมและรายงานต่อกระทรวงเป็นระยะ เพื่อผลักดันการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม