สกพอ.เล็งรื้อแผนดึงลงทุน 'โควิด' เปลี่ยนเทรนด์ธุรกิจ

สกพอ.เล็งรื้อแผนดึงลงทุน 'โควิด' เปลี่ยนเทรนด์ธุรกิจ

การระบาดของโรคโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก และการตัดสินใจของนักลงทุน ทำให้รัฐต้องทบทวนแผนการชักจูงการลงทุน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งช่วงระบาดและหลังระบาด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ สกพอ.ต้องทบทวนทั้งเป้าหมายการลงทุนและยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ เดิมการส่งเสริมการลงทุนใน EEC มีเป้าหมายที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในอีอีซี 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องมีการทบทวนเป้าหมายในปี 2563 ใหม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโรคระบาดที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบยาวนานขนาดไหน

สกพอ.กำลังวิเคราะห์ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีคำขอ 117 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 47,580 ล้านบาท คิดเป็น 67% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 

ทั้งนี้มองว่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ยังอยู่ในระดับที่สูง เกิดจากการตัดสินใจของนักลงทุนตั้งแต่ปี 2562 แต่ทั้งนี้ภาพรวมในครึ่งปีแรก การลงทุนจริงจะมีค่อนข้างน้อยมาก เพราะการก่อสร้างทำได้ยากจากจากมาตรการปิดเมือง รวมถึงการที่นักธุรกิจประเมินสถานการณ์ในอนาคตไม่ค่อยออก 

รวมทั้งจะพิจารณาการทำงานเพื่อชักจูงนักลงทุนในต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนใน EEC ซึ่งวางแผนให้ช่วงครึ่งปีแรกตั้งเป้าหมายที่จะรักษาการติดต่อนักลงทุนที่มีศักยภาพระยะยาวต่อไป แต่ปรับวิธีทำงานเป็นการรับฟังและการประชุมผ่านการประชุม Video conference ส่วนช่วงครึ่งปีหลังที่สถานการณ์ดีขึ้นก็จะเร่งการเตรียมประสานกับนักลงทุนตามแผนการลงทุนที่มีอยู่ โดยคาดว่าในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าสถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ

158795862985  

“แม้ในระยะสั้นอีอีซีจะได้รับผลกระทบแต่ในระยะยาวนักลงทุนยังเชื่อมั่นที่จะลงทุนในอีอีซี เพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาว และมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนยื่นขอส่งเสริมการลงทุน หรือยื่นจัดตั้งธุรกิจในวันนี้จะต้องเปิดธุรกิจได้ภายใน 1-2 ปี และลงทุนระยะยาว 30 -40 ปี” 

สำหรับการทบทวนยุทธศาสตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC อยู่ในขั้นตอนที่ สกพอ.กำลังทบทวน โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในภูมิภาคและทิศทางเศรษฐกิจของโลกหลังโควิด-19 

การวางแผยผลักดันการลงทุนตามทิศทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ซึ่งประมาณว่าช่วงดังกล่าวสถานการณ์น่าจะกลับมาส่วนใหญ่ จะเร่งผลักดันการลงทุนหลักที่จะเกิดตามทิศทางใหม่ของโลก 

ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีความสำคัญมากขึ้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ใน EEC ส่งเสริมให้ลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรอยู่แล้ว ซึ่งเป็น 1 ในอุตสากรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม 

รวมทั้งเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดจากธุรกิจการรักษาพยาบาล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเพิ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกประเภท ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ จะต้องมีการให้น้ำหนักกับการพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบการติดเชื้อ วัคซีนป้องกันไวรัส และเพิ่ม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ในห้องฉุกเฉิน เพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดมากขึ้น

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแนวโน้มมีโรคระบาดอุบุติใหม่บ่อยมากขึ้น เช่น โรคอีโบลา โรคซาร์ โรคเมอร์ส