'ฝ่ายค้าน' ยื่นข้อเรียกร้อง 'นายกฯ' เปิดประชุมรัฐสภา ฟังเสียงผู้แทนปชช.

'ฝ่ายค้าน' ยื่นข้อเรียกร้อง 'นายกฯ' เปิดประชุมรัฐสภา ฟังเสียงผู้แทนปชช.

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือเรียกร้อง "นายกฯ" ดำเนินการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หวังรัฐบาลใช้ช่องทางสภารับฟังข้อเสนอ และหนทางแก้ปัญหา กรณีโควิด-19

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด

โดยระบุถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ผลจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม

158771241462

ทั้ง ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน และประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดคนว่างงานจำนวนมาก ประชาชนขาดรายได้ในการดำรงชีวิต ผู้ประกอบการทยอยปิดกิจการ อันเป็นวิกฤติของประเทศครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรงในรอบหลายสิบปี จนรัฐบาลได้ประกาศให้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ

เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากมาตรการต่างๆ คณะรัฐมนตรีได้ตราพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งให้อำนาจกระทรวงการคลัง โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีกู้เงินภายในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคดังกล่าว , พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563

158771242697

ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ และพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ

ซึ่งในนามหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐมีเป็นจำนวนมากและกระจายไปในทุกภาคส่วนของสังคม การเยียวยาจำเป็นต้องให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และทั่วถึง ในส่วนของการแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็จำเป็นต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

รัฐบาลต้องเปิดโอกาสและรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มิใช่เลือกรับฟังเฉพาะกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น โดยรัฐสภาถือเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติโดยสมาชิกเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย สมควรอย่างยิ่งที่จะได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าพิจารณา เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะกรณีการตราพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ

158771244339

ซึ่งตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุม หากรอให้ถึงสมัยประชุมสามัญ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลัง และระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงจนยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ นอกจากนี้การเสนอพระราชกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาก่อน จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รับคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะของรัฐสภาไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ภาพ -เพจ พรรคเพื่อไทย