‘หนี้เสีย’แบงก์ส่อทะลุ5.6แสนล้าน ไตรมาสแรกสัดส่วนพุ่งแตะ 3.5%

‘หนี้เสีย’แบงก์ส่อทะลุ5.6แสนล้าน ไตรมาสแรกสัดส่วนพุ่งแตะ 3.5%

เผย “งบแบงก์” ไตรมาสแรก สัดส่วนเอ็นพีแอล พุ่งแตะ 3.5% จากเดิม 2.98% ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี คาดแนวโน้มสิ้นปีส่อแตะ 4% คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.6 แสนล้าน ชี้หนี้เสียไตรมาสแรกที่พุ่งยังไม่สะท้อนภาพวิกฤติโควิด เหตุการบันทึกเอ็นพีแอลต้องรอให้เกิน 90 วัน

 นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า หากดูภาพรวม หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาสแรกปี 2563 พบว่า เอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 9% มาอยู่ที่ 4.92 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่เอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่เพียง 4.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น NPL Ratio อยู่ที่ 3.5 % ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอลอยู่เพียง 2.98% เท่านั้น ในภาพรวมจึงถือว่าเอ็นพีแอลปรับตัวขึ้นเร็ว หากเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ ที่เติบโตได้เพียง 2% เท่านั้นในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้า คาดว่า เอ็นพีแอล ในปีนี้มีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 4% หรือคิดเป็นมูลค่าเอ็นพีแอลที่ระดับ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปีก่อน ส่วนผลกระทบจากไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ยังไม่ได้มีผลกระทบเข้ามาในไตรมาสนี้ แต่จะเริ่มรับรู้ผลกระทบจากวิกฤตนี้ได้ ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ขึ้นไป เพราะกว่าที่ผลกระทบดังกล่าว ที่จะมีผลต่อคุณภาพหนี้ให้ด้อยลงได้ หรือเป็นหนี้เสียต้องเห็นการผิดนัดชำระเกิน 90 วันไปแล้ว ดังนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ ที่จะเห็นผลกระทบดังกล่าวชัดเจน

“เอ็นพีแอลปีนี้ ที่เริ่มออกมา เชื่อว่าอาจไม่ได้สะท้อนคุณภาพสินเชื่อที่เหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันมีการพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้เยอะ ดังนั้น เอ็นพีแอลบางตัวก็อาจจะยังไม่เกิด เพราะจะถูกไปรวมอยู่ในเสตจ1 ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ จากการช่วยเหลือลูกหนี้ของแบงก์ ส่วนหนี้เสียที่เกิดขึ้น วันนี้เชื่อว่ามาจากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ยังไม่ได้มาจากผลกระทบโควิด-19 เพราะผลกระทบนี้ กว่าจะเห็นเป็นเอ็นพีแอลก็ต้องรอ 90วัน ดังนั้นกว่าจะเห็นเอ็นพีแอลขึ้นจากผลกระทบนี้ ก็ราวต้นไตรมาส4ถึงจะเห็นชัดเจน”

158756214194

ทั้งนี้ จากการรวบรวมผลการดำเนินงานของ “กรุงเทพธุรกิจ” จากทั้งหมด10 ธนาคาร ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กสิกรไทย(KBANK) ธนาคารทหารไทย ธนชาต(TMB) ธนาคารทิสโก้(TISCO)ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP) ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) พบว่า ไตรมาส 1ปี 2563 มีกำไรรวมทั้งสิ้น 4.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 18.38% หากเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรรวมอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หากดูแบงก์ที่กำไรลดมากที่สุด คือธนาคารแลนด์แอนเฮ้าส์ กำไรลดลงถึง 187% ถัดมาคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาลดลง 44% และกสิกรไทยที่ 34% สำหรับแบงก์ที่มีกำไรเพิ่มมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นแบงก์ขนาดกลาง และขนาดเล็ก คือ ธนาคารทีเอ็มบี ที่ 163% จากการรวมกิจการธนชาต ทำให้รับรู้รายได้เพิ่มขึ้นมาก จากขนาดสินทรัพย์ต่างๆ ถัดมาคือ ซีไอเอ็มบีไทย เพิ่มขึ้น 144% และเกียรตินาคินที่ 20% ขณะที่แบงก์ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่กำไรลดลงเกือบทุกแบงก์

ด้านภาพรวมหนี้เสียไตรมาสนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 4.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 15.79% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.28 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่าเอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นราว 8% โดยธนาคารที่เอ็นพีแอลเพิ่มสูงที่สุดคือ ธนาคารทีเอ็มบี เช่นกัน ที่ 102% ถัดมาคือซีไอเอ็มบี ที่34% และกรุงศรี เพิ่มขึ้น 23%

ขณะที่การตั้งสำรองหนี้เสีย หรือบนมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่เรียกว่าผลขาดทุนด้านเครดิต พบว่าทั้ง 10 แบงก์ มีสำรองโดยรวม เพิ่มขึ้น 45% โดยสำรองเพิ่มมากที่สุดคือ ทิสโก้ที่ 871% และทีเอ็มบีที่ 158% และไทยพาณิชย์ที่ 79% ขณะที่ในไตรมาสนี้ เห็นสำรองแบงก์ลดลงเช่นกัน โดยลดลงมากที่สุดคือ ธนาคารแลนด์แอนเฮ้าส์ ที่มีการโอนสำรองส่วนเกิน กลับเข้ามาในไตรมาสนี้ ทำไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่ม ทำให้สำรองลดลง 100% เกียรตินาคินก็สำรองปรับลดลงเช่นกันที่ 47% และซีไอเอ็มบีไทยที่ 38%

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 6,082 ล้านบาท ลดลง 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง แม้ว่าสินเชื่อเติบโต 1.9% จากสิ้นปี หรือ 4.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี ประกอบกับการได้รับประโยชน์จากการปรับลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั้งสินเชื่อรายใหญ่ สินเชื่อรายย่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ประกอบกับการที่ไม่มีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อจากการได้รับเงินบางส่วนในการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองจำนวน 3,899 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปีที่ผ่านมา โดย NIM อยู่ที่ระดับ 3.17%

ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) เท่ากับ 4.36% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม ธนาคารพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ในการประมาณการถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ จึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน