เตรียมตัวเรียนออนไลน์ แบบ ‘กรุงเทพคริสเตียน’

เตรียมตัวเรียนออนไลน์ แบบ ‘กรุงเทพคริสเตียน’

เมื่อการเรียนการสอนต้องปรับตัวไปสู่ออนไลน์ หลายโรงเรียนต้องเปลี่ยนแผนรับมือเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตรได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด "กรุงเทพคริสเตียน" หนึ่งในตัวอย่างของการเตรียมความพร้อมนี้ จะเป็นอย่างไรบ้างไปดูกัน

กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเตรียมพร้อมการเรียน การสอนออนไลน์

วันนี้ผมจะถอดรหัสให้ท่านได้เห็นว่าโรงเรียนชื่อดังริมถนนสาทรแห่งนี้มีมาตรการเตรียมความพร้อมอย่างไร ใครเป็นพระเอก นางเอก และบทที่ตัวละครต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเล่นอย่างไรให้เรื่องนี้ยอดเยี่ยม

เมื่อรัฐประกาศเลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 ก.ค. ย่อมส่งแรงสะเทือนต่อทุกภาคส่วน นอกเหนือจากโรงเรียนและนักเรียนที่ต้องปรับเปลี่ยนการเรียน การสอนแล้ว ผู้บริหารโรงเรียนยังต้องอำนวยความสะดวกและบริหารงานภายใต้ความเปลี่ยนแปลง และผู้ปกครองที่ต้องแบกรับภาระเป็นครูในยามจำเป็นนี้อีกด้วย

ผมเคยเล่าให้ฟังถึงองค์ประกอบที่ทำให้สถานศึกษาจะประสบความสำเร็จ อันจะต้องประกอบไปด้วย 3 ประการ คือ หนึ่ง ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ สอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นมือเป็นไม้ช่วยกันพัฒนาให้วิสัยทัศน์ที่ดีนั้นเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และสาม นักเรียนและผู้ปกครองที่จะ คอยสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาร่วมกัน ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างในกรณี ของ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน

กรุงเทพคริสเตียนเป็น ร.ร.แรกๆ ที่ประกาศเลื่อนเปิดเทอมออกไป ตั้งแต่โรคระบาดโควิด-19 ยังไม่รุนแรงเท่านี้ และในตอนนี้ก็เป็นโรงเรียนแรกๆ ที่เตรียมพร้อมรับมือการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมีจุดวัดความสำเร็จ คือ แผนการเตรียมพร้อมในการเรียนการสอนออนไลน์ที่ดูหนักแน่น น่าเชื่อถือ

กรุงเทพคริสเตียนออกแบบหลักสูตร โดยร่วมมือกับนักวิชาการ นักการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนวัตกรรมการศึกษา สื่อการศึกษา และเทคโนโลยี ทั้งจากกระทรวงศึกษา และมหาวิทยาลัยชื่อดัง นอกจากนี้แล้วยังร่วมกับบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อาทิ บ.ไมโครซอฟต์ เพื่อออกแบบหลักสูตรและเครื่องมืออำนวยความสะดวก

การออกแบบหลักสูตรและการดึงคนเก่งประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอกเหล่านี้นั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหาร โดยอาจจะใช้เครือข่ายความร่วมมือจากนักเรียนเก่าและผู้ปกครองที่มีความสามารถเฉพาะทางมาช่วยเหลือโรงเรียน

ในส่วนของนางเอกของเรื่อง คือ คุณครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ก็จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมหาศาล สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปผลักดันให้ครูพัฒนาให้ทันยุค โดยมีเครื่องมือออนไลน์ที่ก็ต่างคุ้นชินอยู่แต่เดิมอย่างไลน์และเฟซบุ๊คเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลาง รูปแบบการสอนมีความหลากหลาย เช่น ทำคลิป ทำสไลด์ ทำลิงค์แบบฝึกหัด หรืออาจจะไลฟ์หรือถ่ายทอดสดในบางบทเรียน

นักเรียนและผู้ปกครอง คือ พระเอกของเรื่องที่จะต้องปรับตัวมากที่สุด นักเรียนโตอาจจะคุ้นชินกับคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต และคงสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง หรือแม้กระทั่งอยู่บ้านคนเดียวเรียนหนังสือจากบ้านได้โดยกระทบน้อยมาก แต่สำหรับนักเรียนอายุน้อยๆ นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะจะกระทบกับเวลาของผู้ปกครอง

ผู้ปกครองของนักเรียนเด็กเล็ก นอกจากจะต้องเป็นพนักงานหรือเจ้าของกิจการที่มีภาระรับผิดชอบเฉพาะงานแต่เดิม แต่ในภาวะวิกฤตินี้อาจจำต้องเปลี่ยนบทบาทแบ่งภาคมาเป็นคุณครูจำเป็นเพื่อช่วยเหลือบุตรหลานอีกด้วย แต่จิตวิทยาของหลักสูตรออนไลน์นี้ก็จะเริ่มต้นจากง่ายและค่อยเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุกฝ่ายคุ้นชินกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงแล้ว ดังนั้นจึงคลายความกังวลลงได้

นอกจากนี้แล้ว โรงเรียนยังมีระบบการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก เช่น ระบบคัดกรองกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊คให้กระชับตอบโจทย์การเรียน ระยะเวลาการถามตอบ ตลอดจนหน่วยงานช่วยเหลือทางเทคนิค ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ล้วนเป็นความพยายามให้การเรียนการสอนนั้นไหลลื่นที่สุด

สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากกรุงเทพคริสเตียน คือ การปรับตัวต่อ สภาวะที่เปลี่ยนแปลง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดออกแบบหลักสูตร ด้วยเครื่องมือง่ายๆ เน้นการเข้าถึง เพื่ออนาคตของชาติต่อไป