โควิด-19 พ่นพิษ GDP จีน 'หดตัวครั้งแรก' รอบ 28 ปี

โควิด-19 พ่นพิษ GDP จีน 'หดตัวครั้งแรก' รอบ 28 ปี

เศรษฐกิจจีนต้องหยุดชะงักในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จากมาตรการปิดเมือง (ล็อคดาวน์) และกักตัวเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค.

และนับตั้งแต่เดือน มี.ค. จีนก็เริ่มให้โรงงานต่างๆ กลับมาเริ่มการผลิตอีกครั้ง พร้อมทั้งอนุญาตให้ธุรกิจเปิดทำการ แต่ก็เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ ทำเพื่อกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการล็อคดาวน์ โดยโรงงานและอุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่ ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 หดตัว 6.8% เป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 28 ปี เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ฉุดอุปสงค์ทรุด

เอ็นบีเอส ระบุว่า จีดีพีจีนหดตัวลง 6.8% ในไตรมาส 1/2563 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2535 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศของจีนอย่างรุนแรง โดยมูลค่าจีดีพีในไตรมาส 1 อยู่ที่ 20.65 ล้านล้านหยวน (2.91 ล้านล้านดอลลาร์) ลดลง 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ตัวเลขจีดีพีที่หดตัวลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์น่าจะเป็นแรงกดดันให้ทางการจีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเลขจีดีพีลดลงอีกในไตรมาสสองของปี ซึ่งจะยิ่งผลักให้จีนเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบเต็มรูปแบบ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนให้สัญญาว่าจะดำเนินการมากขึ้นเพื่อจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ขณะที่การว่างงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางสังคม โดยธนาคารกลางจีนได้คลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของสินเชื่อในเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลยังพึ่งพาการกระตุ้นทางการคลังเพื่อกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภค ซึ่งอาจทำให้การขาดดุลงบประมาณปี 2563 สูงเป็นประวัติการณ์

ส่วนผลผลิตในภาคบริการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพีทั้งหมดลดลง 5.2% ส่วนผลผลิตในอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิ ลดลง 3.2% และ 9.6% ตามลำดับ

แต่เอ็นบีเอส ระบุว่า สถานการณ์เกี่ยวกับการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น โดยภาคธุรกิจได้กลับมาเปิดดำเนินการและทำการผลิตอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

158722130842

ขณะที่ตลาดแรงงานของจีนฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือน มี.ค. โดยผลสำรวจระบุว่า อัตราการว่างงานในพื้นที่เขตเมืองอยู่ที่ 5.9% ลดลง 0.3% จากเดือนก.พ.

แม้ว่ายอดค้าปลีก ซึ่งเป็นมาตรวัดการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ร่วงลง 19% ในไตรมาส 1/2563 เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่ยอดค้าปลีกในไตรมาส 1 ปรับตัวลงน้อยกว่าในช่วง 2 เดือนแรกที่ร่วงลงถึง 20.5%

ส่วนในเดือน มี.ค. เพียงเดือนเดียวนั้น ยอดค้าปลีกอยู่ที่ 2.645 ล้านล้านหยวน (3.74 แสนล้านดอลลาร์) ลดลง 15.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีและเมื่อแยกเป็นยอดค้าปลีกในพื้นที่ชนบท พบว่า ลดลง 17.7% ในไตรมาส 1 ขณะที่ยอดค้าปลีกในพื้นที่เขตเมือง ลดลง 19.1%

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การปรับตัวลงของยอดค้าปลีกเกิดขึ้น เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลจีน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ขณะที่ร้านค้าและร้านอาหารต้องปิดกิจการในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เอ็นบีเอส ยังรายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ ร่วงลง 8.4% ในไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ แต่จีนยังคงเผชิญกับอุปสรรคของการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถูกกระทบอย่างหนัก ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า จะมีชาวจีนตกงานงานราว 30 ล้านคน จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19

จีน ซึ่งเป็นแหล่งแพร่โรคโควิด-19 เมื่อปลายปีที่แล้ว ประกาศว่า ปัจจุบันจีนไม่มีผู้เสียชีวิตในประเทศจากโรคโควิด-19 แล้ว แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลนี้ โดยนับถึงวันเสาร์ (18 เม.ย.) มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 82,719 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 4,632 ราย

แต่ล่าสุด เมืองอู่ฮั่น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนได้ทำการปรับตัวเลขยอดผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อจากโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ณ วันที่ 18 เม.ย. เมืองอู่ฮั่นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 325 ราย เป็นกว่า 50,300 ราย และปรับเพิ่มยอดผู้เสียชีวิตอีก 1,290 ราย เป็น 3,800 ราย