'สถานที่กักกัน' กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ลดโอกาสเสี่ยงชุมชนติดเชื้อ

'สถานที่กักกัน' กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ลดโอกาสเสี่ยงชุมชนติดเชื้อ

”การมีสถานที่กักกันในพื้นที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงคนในชุมชนจะรับเชื้อ ได้มากกว่าการไม่มี” นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

รัฐบาลมีนโยบายให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทุกคนจะต้องกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สกัดการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศควบคู่กับการกำจัดเชื้อในประเทศ ทว่า หลายพื้นที่ในต่างจังหวัดมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน ด้วยกลัวว่าจะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายโรค


ปัจจุบันประเทศที่รายงานพบผู้ป่วยโควิด-19มีกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและพบผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุวัตถุประสงค์ของการต้องมีสถานที่กักกัน เพื่อใช้ดูแลและควบคุมผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เป็นการสังเกตการเริ่มป่วย ป้องกันการแพร่ะกระจายเชื้อ 


ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ศบค.) ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ว่า ผู้ป่วยโควิด-19ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ มีแหล่งที่ติดเชื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จาก 15 % ในเดือนมีนาคม เป็น 17 % ในครึ่งเดือนเมษายน และหากพิจารณาจากข้อมูลทางระบาดวิทยาช่วง 15 วัน ระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน 2563 พบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อและเกี่ยวข้องกับกรณีการเดินทางจากต่างประเทศแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย(คนที่เข้ามาก่อนที่รัฐจะมีนโยบายต้องกักกันทุกคน) จำนวน 157 ราย 2.ผู้ที่เข้ากักกันในสถานที่รัฐจัดให้(เริ่มรายงาน 11 เมษายน) 17 ราย และ3.ผู้ที่สัมผัสจากผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ(รายงานแยกถึง 6 เมษายนหลังจากนั้นนำไปรวมในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า) 14 ราย 

158708904241

ศบค.แจ้งว่าจะมีคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศทยอยมาถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ วันที่ 15 เมษายน จากเกาหลีใต้ 92 คน วันที่ 16 เมษายน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 120 คน จากมัลดีฟส์ 70 คน และ วันที่ 17 เมษายน จากบังกลาเทศ 35 คน
กลุ่มนักเรียนเอเอฟเอสจากสหรัฐอเมริกา 129 คน วันที่ 18 เมษายน จะมาอีก 123 คน และวันที่ 19 เมษายน มาอีก 160 คน เป็นต้น 

เมื่อถึงสนามบินในประเทศไทยผู้เดินทางจะถูกจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้เดินทางที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งเข้าข่ายเป็นผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 จะส่งตัวไปยังสถานพยาบาล เพื่อข้ารับการตรวจ รักษา รับการชันสูตรทางการแพทย์และแยกกักตามสมควร และ2.ผู้เดินทางที่ยังไม่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ให้ดำเนินการส่งต่อขึ้นรถที่จัดให้เพื่อไปกักกันตัว ณ สถานที่กักกันที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้น โดยทุกคนจะต้องถูกเก็บตัวอย่างทางเดินหายใจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) เพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรนา2019 จำนวน 1 ครั้ง ประมาณวันที่ 5-7 ของการกักกันตัว หรือเมื่อมีอการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือหอบเหนื่อยอย่างหนึ่งอย่างใด 

สถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ในพื้นที่กรุงเทพฯและส่วนกลาง (State Quarantine)และในพื้นที่ต่างจังหวัด (Local Quarantine) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสั่งการให้แต่ละจังหวัดมีการจัดหาและเตรียมสถานที่กักกันภายในจังหวัด โดยส่วนใหญ่จังหวัดพิจารณาใช้โรงแรมที่พักที่ตั้งในจังหวัดเป็นสถานที่กักกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการเปลี่ยนโรงแรมสำหรับกักกันตนเอง(Hotel Isolation) ซึ่งเดิมเป็นการเตรียมการกรณีบุคคลต้องการกักกันตนเองในโรงแรมแทนการอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงของคนในครอบครัว แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้กักกันทุกคนจากต่างประเทศ แต่ละจังหวัดจึงอาจจะพิจารณาเลือกโรงแรมที่ผ่านการประเมินตนเองตามเกณฑ์ของสธ.ที่มีการเผยแพร่รายชื่อไว้ในเวบไซต์ของกรมสบส. มาเป็นสถานที่กักกันของรัฐทั้งที่เป็นState QuarantineและLocal Quarantineได้ ปัจจุบันทั่วประเทศมี 129 แห่ง แยกเป็นในพื้นที่กทม.83 แห่ง ต่างจังหวัด 46 แห่ง จำนวนห้องกว่า 10,000 ห้อง 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การเปลี่ยนโรงแรมสำหรับกักกัน จะต้องผ่านเกณฑ์ 5 หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 โครงสร้างและวิศวกรรม หมวด 2 บุคลากร จะต้องได้รับการอบรม หมวด 3 วัสดุ อุปกรณ์และอื่นๆ หมวด 4 เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และหมวด 5 การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน เช่น มะรบบการจัดการขยะ และมีระบบการบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน 

158708907195
ในประเด็นที่ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการจัดตั้งเพราะหวั่นเกรงว่าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในจังหวัด(Local Quarantine)จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อก่อโรคโควิด-19นั้น 

นายแพทย์ธเรศ อธิบายว่า การที่จะเป็นสถานที่กักกันได้นั้น หลักเกณฑ์หนึ่งที่ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การทำความเข้าใจกับคนในชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานที่ตั้ง เพื่อให้เข้าใจว่าคนที่เข้ามาอยู่นั้นไม่ได้ป่วย แต่มาอยู่เพื่อสังเกตอาการหากป่วยจะได้นำเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที และโรงแรมที่ผ่านเกณฑ์นั้นมีระบบกำจัดขยะ บำบัดน้ำเสีย และระบบกรองอากาศ ไม่ต่างจากโรงพยาบาล 

“ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานที่กักกัน ซึ่งไม่ได้อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าไปภายในบริเวณ ขณะเดียวกันคนที่ต้องเข้ารับการกักกันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมานอกสถานที่หรือออกไปในชุมชน ดังนั้น คนทั่วไปไม่มีโอกาสรับเชื้อก่อโรคโควิด-19จากสถานที่กักกันกลุ่มเสี่ยง”นายแพทย์ธเรศกล่าว 

158708910136

เช่นเดียวกับ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค บอกว่า สถานที่กักกันเป็นการนำผู้ที่ยังไม่ป่วยมาอยู่เฝ้าสังเกตอาการ และเมื่อเริ่มมีไข้ ยังไม่มีอการไอหรือจามก็จะนำเข้าสู่การรักษาพยาบาล ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ก็เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดโอกาสเสี่ยงให้กับคนในครอบครัวหรือคนในชุมชน ไม่ต้องสัมผัสผู้ติดเชื้อในกรณีที่มีคนกลับจากต่างประเทศเกิดป่วยในเวลาต่อมา 

“อยากให้คนไทยเข้าใจว่าสถานที่กักกันคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่ใช่แหล่งที่จะแพร่โรคให้กับคนในชุมชน ทางกลับกันเป็นสถานที่ที่จะช่วยให้คนในชุมชนปลอดภัยมากขึ้น เพราะการที่นำคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมาอยู่ในสถานที่เฉพาะ จะทำให้ลดโอกาสแพร่เชื้อต่อไปให้คนอื่นๆในชุมชน ได้ดีกว่าการไม่มีสถานที่เฉพาะให้เขาอยู่ แล้วผลักไปให้อยู่ในชุมชนซึ่งจะมีโอกาสที่คนในชุมชนจะติดเชื้อได้มากกว่า รวมถึง ลดการแพร่ให้คนในครอบครัวด้วย และอยากให้นึกเสมอว่าในวันหนึ่งเราอาจจะเป็นคนที่ต้องเข้ามาอยู่ในสถานที่นี้ก็ได้ หากไปมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะรับเชื้อ ทุกคนจึงมีโอกาสที่จะได้ใช้บริการ ไม่อยากให้มีการตีตราหรือรังเกียจ”นายแพทย์โสภณกล่าว 

หากกังวลว่าจะติดเชื้อจากการที่มีสถานที่กักกันคนกลุ่มเสี่ยงโควิด-19ในพื้นที่ ให้เปรียบเทียบกับโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ เพราะโรงพยาบาลเป็นแหล่งรวมสารพัดเชื้อ แต่คนทั่วไปก็ยังเข้าไปในโรงพยาบาลโดยไม่ได้หวั่นว่าจะติดเชื้อ ขณะที่สถานที่กักกันนี้มีเฉพาะคนเสี่ยงจะติดโรคโควิด-19เท่านั้น และคนทั่วไป “ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่”!!!