'อธิป พีชานนท์'ผ่าทางรอด อสังหาฯฝ่าวิกฤติโควิด-19

'อธิป พีชานนท์'ผ่าทางรอด  อสังหาฯฝ่าวิกฤติโควิด-19

การเว้นระยะห่างทางสังคม(Social Distancing) และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่สาธารณะ จึงผลกระทบจึงตามมามากมายกับธุรกิจ เมื่อเกิดภาวะ Economic Shutdown!!! หนึ่งในนั้นคือ “อสังหาริมทรัพย์” เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการต้อง “หยุด”กิจกรรมทุกอย่าง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ยกระดับความรุนแรงจนล่าสุดภาครัฐประกาศได้เพิ่มเติมประกาศออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เริ่มใช้วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาเหมือนกึ่ง“ล็อกดาวน์”เพื่อให้ทุกคนการเว้นระยะห่างทางสังคม(Social Distancing) และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่สาธารณะ จึงผลกระทบจึงตามมามากมายกับธุรกิจ เมื่อเกิดภาวะ Economic Shutdown!!! หนึ่งในนั้นคือ “อสังหาริมทรัพย์” เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการต้อง “หยุด”กิจกรรมทุกอย่าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจอสังหาฯนั้นผูกติดกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อ-ขายตกปีละ 6 แสนล้านบาท หรือ 2 เท่าตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี ) หรือคิดเป็น 12% ต่อจีดีพี ที่มีการใช้แรงงานประมาณ 2 ล้านคน และวัสดุก่อสร้าง ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)

“อธิป พีชานนท์”ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ในช่วงที่ผ่านมาผ่านมรสุมมาหลายลูก แต่ต้องยอมรับว่า วิกฤติโควิค-19 เป็นสึนามิที่ไม่ธรรมดาเนื่องจากวิกฤติครั้งนี้รุกลามไปทั่วโลก ต่างจากวิกฤติปี40 หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ประเทศในโซนเอเชียเจ๊ง แต่บางประเทศยังแข็งแรง แต่วิกฤติครั้งนี้ลามไปทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป และปัญหาการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ในปีที่ผ่านมา

“ตอนนี้เหมือนโดน2 เด้งทั้งผลกระทบจากโควิด -19และเศรษฐกิจมาซ้ำเติม อสังหาและธุรกิจในประเทศโดยรวม ฉะนั้นมันจะทรมาน แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจยังอยู่ได้ แต่ไม่มีรายได้เข้ามาแต่ถ้าเศรษฐกิจมันซึมยาวอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าแค่3-4 เดือนเหมือนคนที่กลั้นลมหายใจอยู่ใต้น้ำยังพอทนอยู่ได้ผิดกับปี40 ที่ไม่มีอากาศหายใจเลยเหมือนคนอยู่ในกองเพลิง ไม่รู้จะไปทางไหนแต่มุมของประชาชนคนทั่วไปวิกฤติครั้งนี้ คนธรรมดาเล๊ะเป็นโจ๊ก เพราะได้รับผลกระทบทำให้คนตกงาน รายได้ไม่มี มีไวรัสระบาด”

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายอสังหาฯในไตรมาสแรกหดหายไป

อธิป กล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัดของการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ท่ามกลางวิกฤติ เป็นสิ่งที่ดีเวลลอปเปอร์ต้อง ‘ปรับตัว’ เมื่อลูกค้าไม่ออกจากบ้านเพราะกังวลเรื่องการติดเชื้อ ต้องนำเสนอทางเลือกในการสื่อสารถึงกลุ่มลูกค้า แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อสังหาริมทรัพย์‘ไม่ใช่’ของที่สามารถซื้อขายผ่านออนไลน์ได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าแค่ศึกษาข้อมูล แต่เวลาที่ลูกค้าตัดสินใจ ส่วนใหญ่ต้องไปดูด้วยตนเองเพราะของไม่ใช่ราคาถูกๆ และสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังคือ อย่าไปฝืดตลาด เอาเงินไปทุ่มทำแคมเปญ ลดแลกแจกแถมโฆษณาเพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ลงทุนไปก็จะไม่ได้ผลลัพธ์ดีเท่าที่ควร

“ถ้าคุณมีกระสุนในมือแล้วยิงไปโดยยังไม่เห็นอะไรเป้าหมาย ไม่ควรทำ คุณควรจะถนอมกระสุน (งบ)ที่จะไปใช้ในเวลาที่เหมาะสม หรือสถานการณ์คลี่คลายน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ”

จากประสบการณ์ของ ‘อธิป ’ ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการอสังหาฯ ระบุว่า ช่วงเวลานี้ดีเวลลอปเปอร์จะทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองอยู่รอดได้ ซึ่งมีอยู่หลายมิติ เริ่มจาก หนึ่งมิติทางด้านความปลอดภัย โดยการ มีมาตรการป้องกันไม่ให้พนักงานติดเชื้อโควิด-19 เพราะถ้าพนักงานติดเชื้อทั้งบริษัททำงานไม่ได้ต้องปิดบริษัทแล้วให้พนักงานทำงานที่บ้าน ซึ่งอสังหาฯ เป็นธุรกิจหนึ่งที่ทำงานที่บ้านไม่ได้ 100% ทำได้เฉพาะบางส่วนของงาน แต่ไม่ได้ทั้งหมด เช่น งานก่อสร้าง ต้องคุมหน้างาน ต้องมีวิศวกร ช่าง คนงานก่อสร้าง หรือการขายอย่างไรก็ต้องเปิดออฟฟิศ ขายจึงต้องมีมาตรการในการดูแล เพื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์มากระทบกับการทำงาน

สองมิติทางด้านการเงิน ด้วยการดูแลสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากรายรับที่เข้ามามีน้อยกว่ารายจ่าย ประจำไม่ว่าเป็นเงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งค่างวดก่อสร้าง ที่ต้องจ่ายไม่สามารถหยุดจ่ายได้ อาจทำให้บางบริษัทใช้วิธีการเลิกจ้าง(Lay off)เพื่อลดโหลด หากไม่ต้องการให้เกิดเช่นนั้นก็จะต้องดูแลสภาพคล่องทางการเงินให้ดีให้มีสภาพคล่องเหลืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึง 1ปี มิเช่นนั้นเกิดเหตุการณ์ปิดอย่างโรงแรม ร้านอาหาร จึงไม่ควรประมาทหรือหวังพึ่งธนาคาร

สามมิติทางด้านเทคโนโลยี บริษัทควรเตรียมความพร้อม ในกรณีที่จำเป็นทำงานที่บ้าน(Work from home) ระบบจะต้องมีความพร้อม ในการทำงาน เพราะระบบฐานข้อมูลที่สามารถลิงค์เข้าส่วนกลางได้จริง และสี่มิติทางด้านการดูแลลูกค้าเพื่อไม่ให้ลูกค้าทิ้งเงินดาวน์หรือไม่มาโอน

สำหรับมาตรการการเยียวยาที่รัฐบาลออกมาให้เงินชดเชยกับคนตกงาน นั้น อธิป ระบุว่า ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของอสังหาฯ เพราะคนกลุ่มนั้นคงเป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้มาซื้ออสังหาฯ เพราะรายได้ไม่ถึงทำให้กู้ไม่ผ่าน ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับอสังหาฯ คือการผ่อนปรนให้ธนาคารต่างๆมีผลกับกลุ่มคนที่ต้องการกู้ซื้อบ้าน

“เราก็กำลังเจรจาให้หน่วยภาครัฐยืดโครงการที่รัฐบาลทำไว้ก่อนหน้านี้ที่มันใกล้จะหมดเวลาให้ยืดเวลาออกไปให้ถึงสิ้นปี ถ้าเป็นไปได้ หรือมากกว่านั้น เช่น โครงการบ้านดีมีดาวน์ โครงการลดค่าธรรมเนียมจดจำนอง ค่าธรรมเนียมโอน และมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อช่วยธุรกิจอสังหาฯฝ่าวิกฤติในปีนี้ อยู่ระหว่างรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพราะตอนนี้รัฐบาลกำลังจะช่วยคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่ ”

ทั้งนี้ หากสามารถจัดการจำกัดการแพร่ระบาดโควิด จบเดือน มิ.ย. นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจจะสามารถจะพลิกฟื้นทันที เพราะยังมีควันหลง จากความวิตกกังวลว่าจบแล้วยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่หรือไม่ คาดว่า ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าทุกอย่างจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวและส่งออก

“ผมยังไม่แน่ใจว่าภายในปีนี้ มันจะมีสัญญาณบวกขึ้นมาเร็วแค่ไหน เพราะเมื่อคนไม่แน่ใจไม่มั่นใจมักจะตั้งการ์ดสูง ไม่กล้าลงทุน ต้องรอดูให้แน่นอนใจก่อน เหมือนเวลาที่มีสึนามิเข้ามาแล้วจะทำให้คนไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเลระยะหนึ่งเพราะกลัวลูกหลงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก่อน เช่นเดียวกับวิกฤติครั้งนี้อย่างน้อยต้องใช้เวลาครึ่งปีหลังจากโควิดจบทุกอย่างจะค่อยๆฟื้น เริ่มจากสิ่งที่จำเป็นก่อน”