รู้จัก ‘สงกรานต์’ เพื่อนบ้านอาเซียน เทศกาล 'สาดน้ำ' ที่หายไปช่วง 'โควิด-19'

รู้จัก ‘สงกรานต์’ เพื่อนบ้านอาเซียน เทศกาล 'สาดน้ำ' ที่หายไปช่วง 'โควิด-19'

นอกจากประเทศไทยที่งดเล่น "สงกรานต์" ปีนี้แล้ว บางประเทศในอาเซียนต่างยกเลิกเทศกาลสาดน้ำที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของตนเช่นกัน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 กรุงเทพธุรกิจจะพาไปรู้จักเทศกาลของเพื่อนบ้านที่เปรียบเสมือนสงกรานต์ในบ้านเรา

ปกติแล้ว ผู้คนในประเทศอย่างกัมพูชา ลาว และเมียนมา มักเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินทางพุทธศาสนาด้วยเทศกาลเล่นน้ำที่จัดขึ้นทุกปีช่วงกลางเดือน เม.ย. (วันที่ 12-16) แต่ในปีนี้จะไม่มีบรรยากาศเทศกาลแห่งความสุขให้ได้เห็นกัน เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19

เทศกาลเล่นน้ำเป็นหนึ่งในหลายเทศกาลที่มีมาช้านานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากในไทยที่มีประเพณีสงกรานต์แล้ว ลาวก็มีเทศกาลที่เรียกว่า “บุนปีใหม่” กัมพูชามีเทศกาลที่คนท้องถิ่นภาคภูมิใจอย่าง “โจลชะนำทะเมย” และเมียนมาที่มีเทศกาลคล้ายกันเรียกว่า “ติงยาน”

เทศกาลเหล่านี้สร้างความเย็นกายฉ่ำใจให้กับผู้คนในช่วงฤดูร้อน และถือเป็นโอกาสดีที่ชาวพุทธจะได้ไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ ลองไปดูกันว่า เทศกาลเล่นน้ำหรือสงกรานต์ของเพื่อนบ้านมีความหมายและบรรยากาศอย่างไรบ้าง

  • บุนปีใหม่ (ลาว)

เทศกาลบุนปีใหม่ของลาวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. ของทุกปี โดยปกติแล้ว ชาวลาวจะฉลองประเพณีนี้กันทั่วประเทศ แต่สีสันความสนุกส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลวงพระบางและวังเวียง

158676367262

เหล่านักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำบรรยากาศเทศกาลนี้ด้วยการร่วมเล่นการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ และไปเยี่ยมชมความตื่นตาตื่นใจของหลวงพระบาง

ในโอกาสนี้ ชาวลาวมักไปรวมตัวกันที่วัดเพื่อกราบไหว้พระและสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบ ฟังเทศน์ฟังธรรม และล้างทำความสะอาดบ้าน วัด รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ และอวยพรให้ปีใหม่เป็นปีที่ดี

  • โจล ชะนำ ทะเมย (กัมพูชา)

เทศกาลโจล ชะนำ ทะเมยของกัมพูชา จัดเฉลิมฉลองกันช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. ของทุกปี และเหล่านักท่องเที่ยวมักแห่ไปเสียมราฐและกรุงพนมเปญเพื่อร่วมเทศกาลเล่นน้ำนี้

158676368677

สำหรับธีมชุดแต่งกายของชาวกัมพูชาในช่วงเทศกาลนี้แทบไม่ต่างกับของไทยและลาว แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์และไม่ควรพลาดชม คือ “การแสดงระบำอัปสรา” ซึ่งเป็นการแสดงที่ถือกำเนิดขึ้นมา โดยเจ้าหญิงบุปผาเทวี พระราชธิดาในเจ้านโรดมสีหนุ เพื่อเข้าฉากภาพยนตร์เกี่ยวกับนครวัด

ลักษณะของการร่ายรำนี้มีความอ่อนช้อยและเชื่องช้า ทำให้นางรำเขมรรำได้พร้อมเพรียงกันราวกับมีลมหายใจอันเดียวกันผนวกกับดนตรีประกอบที่สร้างมนต์ขลังให้ผู้ชม ราวกับว่านางรำและผู้ชมสื่อถึงกัน

นอกจากเทศกาลเล่นน้ำแล้ว นักท่องเที่ยวยังมีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารเขมรดั้งเดิม เช่น อาม็อก เป็นอาหารคาวยอดนิยมของกัมพูชา มีลักษณะคล้ายห่อหมกของไทย, ผงกะหรี่แดงเขมร, ปูทอดและเนื้อทอด ฯลฯ ซึ่งปรุงรสด้วยไวน์กลิ่นหอม

  • ติงยาน (เมียนมา)

เทศกาลติงยาน หรือ ตะจาน ของเมียนมาเป็นวัฒนธรรมของชาวเมียนมามาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย. ของทุกปี โดยช่วงนี้จะเป็นการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เม.ย.ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่

158676369634

เดิมนั้น ทางการเมียนมากำหนดให้ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. เป็นวันหยุดราชการ แต่ปัจจุบันกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการยาวไปจนถึงวันที่ 22 เม.ย. เพื่อให้ประชาชนได้เฉลิมฉลองและใช้เวลาหยุดพักผ่อนกันอย่างเต็มที่

ติงยานคล้ายกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนคือ การเล่นสาดน้ำเพื่อคลายร้อน และเปรียบเหมือนเป็นการลบล้างสิ่งไม่ดีจากปีเก่าเพื่อความเป็นสิริมงคล

ในเทศกาลนี้ มีอาหารพิเศษหลายอย่าง เช่นโม่นโล่นเยบอเป็นขนมที่ทำรับประทานกันเฉพาะในช่วงนี้ โดยมีความหมายถึง ความสามัคคี เพราะการทำขนมนี้ต้องใช้หลายคนช่วยกัน และแจกจ่ายแก่คนอื่น ๆ ที่ผ่านไปมา และตะจานทะมี้นเป็นข้าวสวยที่แช่ในน้ำที่มีกลิ่นเทียนหอม รับประทานกับเครื่องเคียง คือ ปลาช่อนแห้งผัดกับหอมเจียวและยำมะม่วงดอง