'โควิด' Big change อุตสาหกรรมการแพทย์ไทย

'โควิด' Big change อุตสาหกรรมการแพทย์ไทย

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี แต่โควิด-19 ทำให้ต้องปรับยุทธศาสตร์ผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์

นายอดิศร อาภาสุทธิรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ฯแม้ว่ารัฐบาลได้ให้การส่งเสริมอย่างมาก และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล แต่ที่ผ่านมายยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญได้ครบทุกประเภท เนื่องจากตลาดภายในประเทศมีไม่มากพอในการลงทุนตั้งโรงงานผลิต และมีโรงพยาบาลจำนวนมากนิยมใช้สินค้านำเข้ามากว่าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ภาคเอกชนมองว่าควรจะยกระดับอุตสาหกรรมนี้ไปสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะในยามวิกฤตโรงระบาดระดับโลก อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ

รวมทั้งวัตถุดิบวัสดุต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอยู่ในภาวะขาดแคลน แต่ละประเทศต่างกักตุนเพื่อให้มีใช้เพียงพอ ทำให้โรงงานในไทยเป็นจำนวนมากแม้ว่าจะผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้ แต่ก็ไม่สามารถผลิตได้อย่างเพียงพอเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันไวรัสที่จำเป็นอื่นๆ

158661199425

ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะปรับยุทธศาสตร์ให้โรงงานในไทยผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นให้ได้ทุกชนิดทั้งอุปกรณ์สำเร็จรูปและวัตถุดิบชิ้นส่วนต่างๆ ตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้งไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่จำเป็นในการพยุงชีพ โดยภาครัฐควรจะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจึงมีมาตรฐานสูงมาก ถ้าไม่ได้มาตรฐานคนไข้มีปัญหาก็จะเกิดผลเสียมากกว่า

ดังนั้นรัฐจึงต้องช่วยยกระดับมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ ทั้งด้านการสนับสนุนห้องแล็ปทดสอบมาตรฐาน เนื่องจากการทดสอบทดลองเป็นต้นทุนที่สูงมาก และบางส่วนก็ต้องส่งไปทดสอบในต่างประเทศ

ภาครัฐจึงควรสร้างห้องทดสอบที่จำเป็นภายในประเทศ หรือจัดทำความร่วมมือกับต่างชาติ เพื่อลดต้นทุนการทดสอบมาตรฐานตลอดจนการสนับสนุนด้านเงินทุนต่างๆ ทั้งการลงทุนซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อลงทุนตั้งโรงงานผลิตได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลาในการวิจัยพัฒนา

รวมทั้งส่งเสริมให้โรงพยาบาลภายในประเทศทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในไทยที่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้มีปริมาณการใช้ที่เพียงพอต่อการลงทุนผลิตภายในประเทศ

“รัฐบาลและเอกชนจะต้องคิดใหม่ จะต้องมีรายละเอียดว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์อะไรที่ไทยจำเป็นจะต้องผลิตได้เองภายในประเทศ รวมทั้งจะต้องปรับปรุงซัพพลายเชนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆขึ้นมารองรับ เช่น การผลิตวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่างๆ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาให้ผลิตได้เองทั้งหมดภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศให้มากที่สุด เพราะวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อเกิดโรคระบาดระดับโลก อุปกรณ์ที่จำเป็นแม้มีเงินซื้อแต่ก็หาไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องยกระดับให้เป็นสินค้าที่เป็นความมั่นคง ให้พึ่งพาตัวเองได้ในภาวะฉุกเฉิน”

ส่วนในระยะสั้น ผู้ประกอบการได้เร่งผลิตสินค้าที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัยเอ็น95 ทางการแพทย์ ชุดพีพีอีป้องกันไวรัส เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง 

รวมทั้งการผลิตติดตั้งห้องพัก ห้องตรวจคนไขป้องกันการแพร่ระบาดติดตั้งเครื่องฟอกอากาศแยกเชื้อโรค ซึ่งในไทยมีงานวิจัยและเทคโนโลยีในการผลิตพอสมควร แต่ทั้งนี้การจะเร่งผลิตปริมาณมากยังเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะวัสดุส่วนใหญ่จะต้องนำเข้า ซึ่งขณะนี้หายากมาก แต่ทางภาคเอกชนได้ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เร่งวิจัยพัฒนาพาวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไทยเพื่อทดแทนการนำเข้า

นอกจากนี้ โรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์บางรายก็ได้ปรับสายการผลิต ยกเลิกหรือลดการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่จำเป็น หรือใช้น้อยในขณะนี้ เช่น อุปกรณ์ในด้านทันตแพทย์ อุปกรณ์ด้านศัลยกรรมความงาน มาเป็นการผลิตอุปกรณ์ด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และอุปกรณ์ตรวจรักษาต่างๆแทน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

ส่วนอุปกรณ์ในห้องฉุกเฉิน เช่น เครื่องช่วยหายใจ ในขณะนี้ยังไม่มีโรงงานในไทยผลิตได้ เพราะในแต่ละปีมีความต้องการน้อยการนำเข้าจะคุ้มกว่า แต่ในภาวการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หากมีการติดเชื่อเป็นจำนวนมากจะทำให้มีความต้องการอุปกรณ์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากอยู่ในภาวะเร่งด่วนผู้ผลิตจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อผลิตอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาใช้นภาวะฉุกเฉินได้

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ยังได้ขยายความร่วมมือไปยังทุกกลุ่มอุตสาหกรรมภายใน ส.อ.ท. เพราะขยายความร่วมมือในการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่จำเป็น เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแทพย์มีความเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมที่ผลิตกลไกต่างๆ

ซึ่งเครื่องมือแพทย์จะใช้อุปกรณ์จากหลากหลายอุตสาหกรรม แต่จะต้อมมีความละเอียดอ่อนและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก โดยการร่วมมือกับอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะทำให้ไทยพึ่งพาการผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ภายในประเทศได้มากขึ้น