'โควิด' สร้าง New Normal ทางเศรษฐกิจ ถึงจุดเปลี่ยน 'ซัพพลายเชนโลก'

'โควิด' สร้าง New Normal ทางเศรษฐกิจ ถึงจุดเปลี่ยน 'ซัพพลายเชนโลก'

“เฟรเซอร์ส” คาด หลังวิกฤตโควิด-19 จบ รูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไป กระแสย้ายฐานการผลิตออกจากจีนจะแรงขึ้น แนะรัฐบาลฉวยโอกาสดึงลงทุนไทย ด้านอุตฯหุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติขยายตัวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เร็วขึ้น ธุรกิจคลังสินค้าเก็บอาหารจะเติบโตรวดเร็ว

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ร่วมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่ต้องมีการปรับแผนธุรกิจใหม่ ในขณะที่การระบาดจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีแรงกดดันให้มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น

โสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เฟรเซอร์ส ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและธุรกิจคลังสินค้าโลจิสติกส์ได้จับตาวิกฤติโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และมองว่าหลังจากเกตุการณ์สงบจะทำให้สถานการเปลี่ยนไปเกิด New Normal ทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หลังวิกฤตโควิด-19 ภาคการลงทุน การผลิต และซัพพลายเชนทั้งโลกจะเปลี่ยนไป ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐแล้ว เพราะฐานการผลิตของโลกกระจุกที่จีนเกือบทั้งหมด เมื่อจีนถูกตั้งกำแพงการค้าจึงกระทบผู้ซื้อสินค้าจีนทั่วโลก ทำให้เกิดการขยายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ลดการพึ่งพาสินค้าที่ผลิตจากจีน 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบรุนแรงสินค้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากจีนส่งออกลดลงกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลก ดังนั้นหลังจากเหตุการณ์โควิด-19 จะทำให้ทั่วโลกตระหนักว่าไม่สามารถให้การผลิตทั้งหมดกระจุกที่จีนประเทศเดียวได้ จึงต้องขยายฐานการผลิตไปตั้งโรงงานในประเทศอื่น ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ส่วนนี้เพราะเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของภูมิภาค

“ซัพพลายเชนทั่วโลกจะปรับตัว จะเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงในการกระจุดตัวอยู่ที่จีนเพียงประเทศเดียว ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องปรับตัวรองรับคลื่นการลงทุนที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิต-19 จะต้องให้ไทยโดดเด่นเหนือคู่แข่ง ดึงดูดต่างชาติที่มีศักยภาพให้มาลงทุนในไทยมากที่สุด แม้ขณะนี้การลงทุนจะติดขัดแต่ระยะกลาง-ยาวการลงทุนจะกลับมาแข็งแรงกว่าเดิม”

สถานการณ์โควิด-19 ยุติจะทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติขยายตัวรวดเร็ว ซึ่งจากการติดตามข่าวจะพบว่ามีหลายวงการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วงโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะโรงพยาบาลหลายนำมาใช้เพื่อลดการพบปะระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยลดการแพร่ระบาด และรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยหลังจากนี้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติจะเร็วขึ้น โดยโรงงานทุกระดับจะหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งเฟรเซอร์สมีเทคโนโลยีเหล่านี้พร้อมให้บริการลูกค้าทันที

ส่วนธุรกิจคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากโควิด-19 โดยคลังสินค้าที่รองรับโรงงานอุตสาหกรรมซบเซาลง ส่วนคลังสินค้าที่รองรับความต้องการของธุรกิจอีคอมเมิร์ชและเดลิเวอรี่เติบโต 10-20% ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ชและการค้าออนไลน์ไทยขยายตัวก้าวกระโดด

158661108649

ช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการประสบปัญหาการเช่าคลังสินค้าที่ขาดความยืดหยุ่น ในช่วงวิกฤตบางสินค้าต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้น และบางช่วงต้องการลดลงมาก ซึ่งอนาคตแนวโน้มธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้น เฟรเซอร์ส จึงปรับรูปแบบธุรกิจคลังสินค้าให้ยืดหยุ่น โดยลูกค้าเพิ่มหรือลดคลังสินค้าได้ตามสถานการณ์

ทั้งนี้ จะออกแบบคลังสินค้าที่มีความสูงรองรับลูกค้าตามแนวดิ่ง แทนแบบเดิมที่คลังสินค้าให้เช่าตามแนวราบ เช่น ในภาวะปกติลูกค้าเช่าคลังสินค้า 5 ชั้น แต่หากมีสินค้าเพิ่มขึ้นมากก็ขยายความสูงเป็น 7–10 ชั้น รวมทั้งคลังสินค้า 1 แห่ง แยกย่อยให้ลูกค้าเช่าได้หลายราย ซึ่งเฟรเซอร์สจะมีโมเดลธุรกิจใหม่ที่นำเทคโนโลยี ซอฟท์แวร์การบริหารจัดการใหม่มาตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

“การบริหารจัดการคลังสินค้าลักษณะนี้ ต้องนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ เพราะคลังสินค้า 1 แห่ง มีลูกค้าหลายราย จึงให้คนเข้าไปขนสินค้าเข้าออกไม่ได้เพราะเสี่ยงต่อการสูญหาย”

ทั้งนี้ เฟรเซอร์ส มีแผนขยายธุรกิจคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพื่อเก็บรักษาสินค้าอาหารและยา เพราะมองบทเรียนวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องการใช้คลังสินค้าเก็บอาหารและยาเพิ่มขึ้นและแม้หลังวิกฤตโควิด-19 ความต้องการคลังสินค้าเก็บอาหารยังเพิ่มขึ้น เพราะร้านอาหารมีประสบการณ์ขาดแคลนสินค้าบางชนิดช่วงวิกฤติ ซึ่งการซื้อวัตถุดิบจากคลังสินค้าจะมั่นคงกว่าการพึ่งวัตถุดิบจากตลาดสดและยังสะอาดกว่า

ช่วงโควิด-19 ระบาด เฟรเซอร์สยังเดินหน้าธุรกิจตามแผน โดยเดินหน้าหานักลงทุนรายใหญ่สร้างโรงงานในรูปแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งล่าสุดจะลงนามสัญญาสร้างโรงงานพื้นที่ 1 แสนตารางเมตร ซึ่งเป็นลูกค้าที่หารือตั้งแต่ปลายปี 2562 และปี 2563 จะส่งมอบอาคารขนาดใหญ่และคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิสำหรับเก็บอาหารให้กลุ่มฮาวี่ ลอจิสติกส์ มีพื้นที่ 3 หมื่นตารางเมตร และมีอาคารคลังสินค้า อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พื้นที่ 7.5 หมื่นตารางเมตร