รัฐอัดฉีดอุ้มลูกหนี้ ช่วยแบงก์พยุงสภาพคล่อง

รัฐอัดฉีดอุ้มลูกหนี้  ช่วยแบงก์พยุงสภาพคล่อง

รัฐบาล ยอมทุ่มหมดหน้าตักเพื่อสู้ศึกโควิด-19 ครั้งนี้เพื่อดึงเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากจนถึงยอดพีระมิดให้ประคองตัวเองไปได้ ท่ามกลางการหยุดชะงักของธุรกิจที่กระทบทุกกลุ่ม จากการดำเนินมาตรการเฟส 3 ที่ตรงเป้าหมายและประคองธุรกิจได้จริง

     ด้วยเม็ดเงินตามพ.ร.ก. กู้เงินครั้งประวัติศาสตร์ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 11-12 % ของจีดีพี และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายเดียวกัน เช่น รัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียที่ยอมทุ่มออกมาตรการกระตุ้นคิดเป็นสัดส่วน 12 % และ 18 % ของจีดีพี ตามลำดับ

     หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่สหรัฐที่สภาครองเกสยอมผ่านร่างกฎหมาย 2.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 10 % ของดีจีพี ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นกัน ซึ่งเม็ดเงินมหาศาลเตรียมจะใช้เป็นการดำเนินการผ่านภาคการเงินเพื่อเข้าถึงมือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก คู่ค้า พนักงานและแรงงาน นั้นเป็นการเติมเงินให้กับระบบเศรษฐกิจไปในตัว

    จาก 1.9 ล้านบาท ในส่วนที่แบงก์ชาติ 9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 แสนล้านบาทเข้าไปรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ซึ่วถือว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญเกี่ยวพันกับธนาคาร บริษัทจดทะเบียน ประชาชน จากก่อนหน้านี้มีภาวะแพนิกเซลล์ออกมาในกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ. ทหารไทย ช่วงปลายเดือนมี.ค. จนทำให้ต้องมีการปิดซื้อขายไปถึง 4 กองทุน

    ส่วนอีก 5 แสนล้านบาทเป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan )กับธนาคาร อัตรา 0.01 % ต่อปี เพื่อให้ไปปล่อยสินเชื่อลูกค้าต่ออีกทอดในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 % และลูกค้ารายนั้นไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือน

    โดยพุ่งเป้าไปที่ SME ที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่แล้วไม่เกิน 500 ล้านบาท อีกกลุ่ม SME ที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่แล้วไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้สิทธิไม่ต้องจ่ายชำระเงินต้น ซึ่งเฉพาะในส่วนนี้ ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เบาใจไปได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    ตามโครงสร้างของกลุ่มลูกค้าธนาคารขนาดใหญ่ ทั้ง 7 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้า SME และ รายย่อย มีสัดส่วนมากที่สุดในพอร์ตสินเชื่อของทุกธนาคารรวมกัน โดยเฉพาะธนาคารรายใหญ่ 4 อันดับแรก

    กลุ่มที่มีลูกค้า SME มากที่สุด คือ KBANK โดยมีลูกค้า SME 34% ของสินเชื่อรวม รองลงมาเป็น BBL ที่ 27% ด้าน KTB, SCB, TMB อยู่ที่ 16-18% ของสินเชื่อรวม ส่วน TISCO มี 5% ของสินเชื่อรวม สำหรับ KKP มีลูกค้า SME 26% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

    ดังนั้นหากไม่เข้าไปเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้ากลุ่มนี้จะเห็นการผิดนัดชำระหนี้มูลค่ามหาศาล ซึ่งจากตัวเลขของแบงก์ชาติที่เข้ามาเติมเงินให้ลูกค้าธนาคารในรอบนี้สามารถคลบคลุมลูกหนี้ถึง 1.7 ล้านราย มีวงเงินถึง 2.4 ล้านล้านบาทได้

     มาตรการที่ออกมาแบงก์ชาติยังเข้าไปลดภาระให้ธนาคารด้วยการลดนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูฯ จาก 0.46% เหลือ 0.23 % นั้นทำให้บรรดาธนาคารมีสภาพคล่องในมือเพิ่มขึ้นเพื่อสามารถเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าตัวเองอีกที

      เฉพาะการลดเงินนำส่งกองทุนฯ มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถหนุนเงินในมือหุ้นธนาคารได้ราว 14-15 % คิดเป็นภาพรวมถึง 1แสนล้านบาท แลกกับการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการปล่อยกู้ไม่คิดต้นและดอกเบี้ยตามมาตราการของรัฐบาล

     อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวทำได้เพียงพยุงแต่ไม่สามารถทำให้เศรษบกิจกลับมาฟื้นได้จริง ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินปัจจัยแค่การให้ลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูจะทำให้ประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในปี 2563 -2564 เพิ่มขึ้น 1.28 และ 1.40 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และ 14% ตามลำดับ

     โดยคาดกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลางได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่ม auto lender อย่างไรก็ตามจากการที่แบงก์ชาติ กล่าวว่าต้องการลดต้นทุนให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อให้นำไปลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า และอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงต่างๆ ดังนั้นจึงคาดธนาคาร พาณิชย์อาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่มากขึ้น จึงมองว่าไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากการลดเงินที่ต้องนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ