สธ.เตรียมตรวจโควิด-19คนกรุงในพื้นที่เป้าหมายทุกราย

สธ.เตรียมตรวจโควิด-19คนกรุงในพื้นที่เป้าหมายทุกราย

สั่งกักกัน 14 วันทุกคนเดินทางเข้าไทยไว้ในสถานที่รัฐจัดให้เท่านั้น มีห้องพักรองรับแล้วกว่า 1,800 ห้อง สธ.เตรียมค้นหาผู้ติดโควิด-19 เชิงรุกในจุดเสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ สปสช.ยันสิทธิบัตรทองรักษา-ตรวจคัดกรองฟรี 


เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 8 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19(COVID-19)ว่า นับจากวันที่ 8 เมษายน 3563เป็นต้นไประบบจะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.คนเดินทางจากต่างประเทศทุกคนทั้งคนไทยและชางต่างชาติ จะมีการปรับวิธีการจัดการ โดยจะไม่ปล่อยให้ไปกักตัวหรือเดินทางเอง แต่ทุกคนจะต้องถูกกักกันในสถานที่รัฐกำหนดเท่านั้น เป็นเวลา 14 วัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2563 มีการเตรียมการในส่วนของสถานที่ที่รัฐกำหนดให้กักกันรวม 1,883 ห้อง ในส่วนที่เป็นสถานที่ราชการ 2 แห่ง มีจำนวนทั้งหมด 136 ห้อง มีผู้เข้ากักกันแล้วรวม 358 คน ประกอบด้วย โรงเรียนการบินกำแพงแสน มี 36 ห้อง เข้ากักกันแล้ว 75 คน และอาคารรับรองที่สัตหีบ มี 100 ห้อง เข้ากักกันแล้ว 283 คน และในภาคเอกชนอีก 1,747 ห้อง มีผู้เข้ากักกันแล้ว 307 คน ยังมีจำนวนห้องอีกมากกว่า 1,400 ห้องที่จะรองรับผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

“ผู้ที่เข้าพักในสถานที่รัฐจัดให้ หากผู้ใดมีอาการไข้หรือโรคระบบทางเดินหายใจ และตรวจพบติดโควิด-19 จะถูกแยกออกไปเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งหากมาตรการในเรื่องลดเชื้อและลดความเสี่ยงจากการนำเชื้อเข้าประเทศดำเนินการได้อย่างจริงจัง จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศก็จะค่อยๆลดลง และเป็นการลดเชื้อสู่ประชาชน”นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าว

2. ภายในประเทศ ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ ในส่วนของกรุงเทพฯสถานการณ์อยู่ในระดับควบคุมได้ สิ่งที่จะดำเนินการถัดจากนี้ คือ จะมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยมีการกำหนดวางจุดพื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพมหานครที่จะมีหลายจุด เพื่อดำเนินการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งจะตรวจทั้งในคนปกติ คนที่มีความเสี่ยง และคนป่วย เป็นการดำเนินการตรวจจับดูว่ายังคงมีผู้ป่วยติดเชื้อแฝงอยู่ในกลุ่มประชากรของกรุงเทพฯหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปูพรมตรวจคนทั่วทั้งกรุงเทพฯแต่จะทำในพื้นที่กรมควบคุมโรคมีการชี้เป้าเท่านั้น

สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด แม้สถานการณ์ในภาพรวมจะดีขึ้น แต่ยังมีพื้นที่จะต้องควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เช่น จ.ภูเก็ตที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวและมีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากรวมถึงปัจจัยเรื่องของสถานบันเทิง จึงได้มีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ที่เป็นซูเปอร์สีแดงของจ.ภูเก็ต ได้แก่ ย่านบางลาง ป่าตอง โดยเก็บเสมหะในทางเดินหายใจส่งตรวจหาเชื้อจำนวนมากกว่า 1,500 ตัวอย่างทั้งคนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ผลการตรวจจะทยอยออกมาเรื่อยๆ ควบคู่กับผลการควบคุมโรคของภูเก็ต ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา ต้องจับตาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้วย


ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีงบประมาณรวมอยู่ 4,280 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้กรณีโรคโควิด-19ใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) และ2.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การตรวจคัดกรอง ซึ่งจะเป็นการให้บริการตรวจคัดกรองรักษาหฟรีแก่ผู้ป่วยในสิทธิ์บัตรทอง นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจจะได้รับความเสี่ยงจากการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในส่วนของการจ่ายเงินชดเชยนั้น คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติขยายวงเงินในการดูแล


แยกเป็น กรณีบาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง สามารถจ่ายได้สูงสุด 2 แสนบาท กรณีสูญเสียอวัยวะ พิการมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายตั้งแต่ 2 แสน-4.8 แสนบาท และกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต วงเงิน 4.8-8 แสนบาท อีกทั้ง ในส่วนของการส่งเสริมป้องกันคนไทยไม่ให้เป็นโควิด-ต สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากกองทุนตำบลได้ โดยปัจจุบันมีกว่า 7,700 แห่งทั่วประเทศ